ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (16 ส.ค.61) กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้จัดโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพิ่มศักยภาพประชาชนด้านกฎหมายและการเข้าถึงความเป็นธรรม (ครั้งที่ 6) ผ่านนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ The Choice เกมทางเลือก-ทางรอด จ.บุรีรัมย์ ณ โรงแรมเอกลดา อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เพื่อเผยแพร่บทบาทภารกิจของกรมสอบสวนคดีพิเศษในด้านการให้ความช่วยเหลือ อำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชนด้านปัญหาหนี้สินและด้านอื่น พร้อมกับเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายให้แก่ประชาชนในชุมชนท้องถิ่น กลุ่มแม้บ้านเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อป้องกันมิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม
พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า เนื่องจากตัวแทนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จ.บุรีรัมย์ มีหนังสือถึง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อแสดงความขอบคุณกระทรวงยุติธรรมที่ให้การช่วยเหลือในการต่อสู้คดี ซึ่งศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม การสอบสวนคดีพิเศษได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกับส่วนราชการในหลายภาคส่วน เพื่อรวบรวมสนับสนุนพยานหลักฐาน ประสานสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ให้ความช่วยเหลือ โดยผลของคดีแพ่ง (คดีผู้บริโภค) ในศาลชั้นต้น ศาลจังหวัดนางรองมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 ยกฟ้องโจทก์ ทำให้ตัวแทนกลุ่มแม่บ้านเกษตรและวิสาหกิจชุมชน 88 กลุ่ม ได้แก่ อำเภอหนองหงส์ อำเภอโนนสุวรรณ อำเภอนางรอง อำเภอหนองกี่ และอำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 222 คน ไม่ต้องชำระหนี้ให้กับบริษัทผู้จำหน่ายปุ๋ย ซึ่งมีจำนวนทุนทรพย์ฟ้องรวมกว่า 42 ล้านบาท
โดยที่มาของคดีดังกล่าว คือ เมื่อกรกฎาคม 2559 ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร อ.โนนสุวรรณและหนองหงส์ ว่าได้รับความเดือดร้อน ถูกบริษัทผู้จำหน่ายปุ๋ยฟ้องร้องให้ชำระหนี้ค่าปุ๋ยอินทรีย์จากการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมอาชีพของหน่วยงานแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง 4 ปี ระหว่างปี 2555-2558 โดยไม่เป็นธรรม เนื่องจากเกษตรกรต่างเข้าใจมาโดยตลอดว่า โครงการดังกล่าวแจกปุ๋ยอินทรีย์ให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแบบให้เปล่า ต่อมากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดนางรอง เรื่อง ผิดสัญญาซื้อขาย 88 คดี จำเลย 222 คน ปุ๋ยอินทรีย์ 100,945 กระสอบ 40.378 ล้านบาท ทุนทรัพย์ยื่นฟ้อง 42,821,410.01 บาท
กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้มอบหมายศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ลงพื้นที่ประสานข้อมูลร่วมกับผู้ว่าฯบุรีรัมย์ สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 4 จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริง สนับสนุนพยานหลักฐานแก่คณะทนายความจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ 7 คน เข้าแก่ต่างในคดีความที่กลุ่มเกษตรกรถูกฟ้องร้อง
ศาลจังหวัดนางรองพิเคราะห์พยานหลักฐาน ทั้งพยานบุคคลและเอกสารของโจทก์และจำเลยแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมทนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยศูนย์ความช่วยเหลือลูกหนี้ฯ จัดอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ประชาชนในพื้นที่
โดยภาคเช้า มีการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “บทบาทกระทรวงยุติธรรมและกรมสอบสวนคดีพิเศษในการอำนวยความยุติธรรม” โดย พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และการอภิปรายในหัวข้อ “ก้าวแรกที่มั่นคง ก้าวต่อไปที่ทั่งคั่งและยั่งยืน” โดยเป็นการถอดบทเรียนความสำเร็จในการให้ความช่วยเหลือ โดยวิทยากรจากผู้แทนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่มาถ่ายทอดความเป็นมาของคดี ผู้แทนสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ถ่ายทอดประสบการณ์การนำพยานหลักฐานเข้าหักล้างพยานโจทก์ ผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินถ่ายทอดประสบการณ์ การตรวจสอบ ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษถ่ายทอดถึงบทบาทภารกิจด้านการอำนวยความยุติธรรม ผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ถ่ายทอดการเพิ่มขีดความสามารถการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพัฒนาอาชีพ และสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน
สำหรับภาคบ่าย มีการแบ่งกลุ่มแนะนำเกม The Choice เกมทางเลือก-ทางรอด ซึ่งเป็นสื่อการเรียนรู้รูปแบบเกมกระดาน ที่ออกแบบมาเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม โดยมีตัวแทนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน อ.หนองหงส์ โนนสุวรรณ นางรอง หนองกี่ และปะคำ จ.บุรีรัมย์ รวมเจ้าหน้าที่รัฐ 300 คน เข้าร่วม
จุดเด่นของ The Choice เกมทางเลือก-ทางรอด คือ การจำลองชีวิตจริงของคนที่ประสบปัญหาได้รับความเดือดร้อนจากการเป็นหนี้สินมาเป็นตัวละครในเกม จำนวน 8 เรื่อง ซึ่งเกมจะสอดแทรกเนื้อหาในการให้ความรู้กฎหมายที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับปัญหาหนี้สิน เช่น การทำสัญญากู้ยืมเงิน การขายฝาก การเช่าซื้อ การสอนให้รู้จักวางแผนการใช้จ่ายเงิน การเรียนรู้หลักนิติธรรมและการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้รับรางวัลระดับดีเด่น ประเภทรางวัลนวัตกรรมการบริการ ประจำปี พ.ศ.2559
ทั้งนี้นวัตกรรม “The Choice เกมทางเลือก-ทางรอด” เป็นเครื่องมือที่สามารถส่งเสริมให้ความรู้กับประชาชน เป็นการอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมจากปัญหาหนี้สินและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สอดรับกับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ ประกาศ ณ วันที่ 6 เมษายน 2561 ประเด็นปฏิรูปที่ 7 : มีกลไกให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายโดยสะดวกและเข้าใจกฎหมายได้ง่าย รวมทั้งพัฒนาระบบฐานข้อมูลของกฎหมาย คำพิพากษา คำวินิจฉัย หรือการตีความกฎหมาย ให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวก กิจกรรมและวิธีการตามผลอันพึงประสงค์ ข้อ 5 การเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายให้แก่ประชาชนโดยใช้สื่อประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง
โดยคาดหวังให้ผู้เข้าร่วมโครงการ มีความเข้าใจในบทบาทภารกิจของกรมสอบสวนคดีพิเศษด้านการให้ความช่วยเหลือประชาชน และได้รับความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับปัญหาหนี้สิน เช่น การทำสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาฝากขาย สัญญาเช่าซื้อ รวมทั้งรู้จักการวางแผนการใช้เงิน เรียนรู้หลักนิติธรรม และการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง