Villa De TU ฟู้ดคอมเพล็กซ์ ต้นแบบ “อีโคมาร์เก็ต” ปทุมธานี

ปัญหาขยะล้นเมืองเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามรณรงค์ช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหา เช่นเดียวกับ “ณัฐพงษ์ วงศ์วาณิช” เจ้าของสัญญาเช่าพื้นที่การค้าและอาคารพาณิชย์บริเวณซอยเชียงราก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี ผู้ลงทุนโครงการฟู้ดคอมเพล็กซ์ Villa De TU ซึ่งเป็นศูนย์อาหาร บริเวณซอยหอพัก ถนนคลองหลวง ข้างประตูเชียงราก 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี ได้มีการพูดคุยกับทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการวางแนวทางร่วมกันให้เป็นอาคารต้นแบบของศูนย์จำหน่ายอาหารรอบมหาวิทยาลัย ซึ่งจะมีลักษณะเป็นอีโคมาร์เก็ต หรือการมีขยะเหลือทิ้งน้อยที่สุด

รวมไปถึงการระบุในเอกสารสัญญาเช่าของร้านค้าต่าง ๆ ประกอบด้วย 1.ทุกร้านค้าต้องรับผิดชอบการกำจัดขยะให้เป็น zero waste และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายขยะที่ร้านสร้าง 2.ไม่ใช้โฟมเป็นภาชนะโดยเด็ดขาด 3.ใช้ภาชนะแบบใช้ซ้ำให้มากที่สุด หรือหากใช้ภาชนะในลักษณะใช้ครั้งเดียวทิ้ง ต้องเป็นขยะแบบย่อยสลายง่าย และ 4.หากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการรณรงค์ใด ๆ เรื่องสิ่งแวดล้อมผู้เช่าทุกร้านค้าต้องปฏิบัติตามทันที ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะเป็นเหตุในการยกเลิกสัญญาเช่าได้อีกด้วย

ณัฐพงษ์เล่าว่า โครงการ Villa De TU เป็นโครงการปรับปรุงอาคารพาณิชย์เก่า 2 ชั้นในพื้นที่ 1 ไร่ มีเป้าหมายให้เป็นศูนย์รวมอาหารอร่อย ราคาถูก และมีคุณภาพสำหรับบริการนักศึกษาตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงร้านอาหารทางเลือก เช่น ฮาลาล และอาหารคลีน เป็นต้น โดยใช้ลงทุน 10 ล้านบาทในการปรับปรุงระบบประปาและไฟฟ้า รวมถึงโครงสร้างอาคารซึ่งจะมีพื้นที่ใช้สอยรวม 2 ชั้น 3,200 ตารางเมตร (ตร.ม.) และแบ่งเป็นจำนวน 50 ล็อก ขนาดล็อกละ 48 ตร.ม. รวมถึงสามารถรองรับคนได้พร้อมกันเต็มพื้นที่ 2,500 คน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางเดือนสิงหาคม 2561

โดยศักยภาพของพื้นที่ดังกล่าวเหมาะกับการประกอบกิจการประเภทร้านอาหาร เพราะมีจำนวนนักศึกษาหมุนเวียนในบริเวณ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เฉลี่ยอยู่ที่ 20,000-30,000 คน/ปี

นอกจากนี้ ยังเป็นนักศึกษากลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่บริเวณดังกล่าวยังถูกล้อมด้วยหอพักนักศึกษากว่า 20-30 แห่ง รวม 4,000 ห้อง และอยู่ห่างจากประตูมหาวิทยาลัยไม่เกิน 500 เมตร จึงกล่าวได้ว่าเป็นทำเลทองที่มีกำลังซื้อของนักศึกษาเวียนตลอดเวลา

“ส่วนแนวทางในการเลือกร้านอาหาร คือ 1.ร้านค้าที่มีอาหารรสชาติดีและขายดีรอบบริเวณ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 30-40% 2.ร้านค้าที่มีชื่อเสียงในเมืองอีก 30-40% ผ่านการคัดเลือกและทาบทามด้วยตนเองโดยที่ตอบตกลงแล้ว เช่น ราดหน้ายอดผักสี่มุมเมือง มะตะบะท่าพระอาทิตย์ เป็นต้น และ 3.ร้านค้าของนักศึกษาที่อยากทดลองทำกิจการของตนเองอีก 20% เพื่อเติมความสดใหม่ให้พื้นที่ ซึ่งตอบโจทย์ความเป็นฟู้ดคอมเพล็กซ์ผ่านการมีทุกอย่างที่กลุ่มนักศึกษาต้องการ ทั้งร้านอาหารเจ้าอร่อยในเมือง ร้านอาหารอร่อยในพื้นที่ที่มีความรู้จักกลุ่มลูกค้า และร้านของเพื่อน ๆ ที่ทดลองลงทุน เป็นต้น” ณัฐพงษ์กล่าว