กาแฟ “โรบัสต้า-อราบิก้า” รุ่งหนุนปลูกเพิ่ม

เติบโต - กาแฟถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความต้องการสูง แต่เกษตรกรไทยยังปลูกได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ต้องมีการนำเข้าทุกปีประมาณ 50,000 ตัน

เกษตรชี้ทิศทางกาแฟปีนี้สดใส ความต้องการตลาดพุ่ง ไทยปลูกเพิ่มเป็น 2 เท่า

นายนัด ดวงใส อนุกรรมการพืชกาแฟ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางกาแฟไทยปี 2561 เติบโตดี ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น 50-60% จากปี 2560 ที่มีผลผลิต 15,000 ตัน เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 กว่าตัน โดยเฉพาะพันธุ์โรบัสต้า ซึ่งปลูกมากใน จ.ชุมพร และระนอง ขณะที่กาแฟพันธุ์อราบิก้า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการขยายตัวเติบโตขึ้นกว่า 2 เท่าตัว โดยขยายพื้นที่ปลูกมากที่ภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ และเชียงราย

ขณะที่ภาพรวมการบริโภคกาแฟของไทยอยู่ที่ 85,000 ตัน/ปี มูลค่ากว่า 5,950 ล้านบาท แต่ไทยสามารถผลิตได้ปีละ 30,000 ตัน มูลค่า 2,000 ล้านบาท ทำให้ต้องนำเข้าประมาณ 55,000 ตัน มูลค่า 3,800 ล้านบาท ทั้งนี้ แม้มีการนำเข้ามาก แต่ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี 68-70 บาท/กก. เนื่องจากมีคณะอนุกรรมการพืชกาแฟ ประกอบด้วยกรรมการ 15 คน มีอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดนโยบายเสนอต่อคณะกรรมการพืชสวนชุดใหญ่ ที่มีรองปลัดกระทรวงเกษตรฯเป็นประธานพิจารณานำเข้าในแต่ละฤดูกาล

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการพืชกาแฟได้เสนอนโยบายกำหนดให้มีการนำเข้ากาแฟได้ตั้งแต่เดือน พ.ค.-พ.ย.แทนการนำเข้าในเดือน เม.ย.เพื่อไม่ให้กระทบผู้ปลูกกาแฟ และให้ผลผลิตภายในประเทศเก็บเกี่ยวและจำหน่ายแล้วเสร็จ โดยมีการสอบถามไปยังจังหวัดที่ปลูก หากยังบริหารจัดการไม่หมดจะระงับการนำเข้า

สำหรับทิศทางการปลูกกาแฟเพื่อรองรับการนำเข้ายังสามารถปลูกได้อีกมาก โดยเฉพาะการปลูกรูปแบบสวนพืชร่วม ที่ส่วนใหญ่ภาคใต้มักใช้วิธีการนี้ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 120 กก./ไร่ ขณะที่การปลูกเชิงเดี่ยวได้ผลผลิตเฉลี่ย 300 กก./ไร่ แต่ปัจจุบันมีการดำเนินการค่อนข้างน้อย ล่าสุดคณะอนุกรรมการพืชกาแฟได้หารือกับชาวสวนยางพารา จ.พัทลุง และสุราษฎร์ธานี หากมีการโค่นยาง 4-5 ไร่ แล้วหันมาปลูกกาแฟ จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตสารกาแฟได้กว่า 300 กก./ไร่ สร้างรายได้กว่า 22,000 บาท/ไร่ ขณะที่ยางพาราสามารถกรีดได้ไม่ถึง 200 วัน/ปี

มั่นใจว่ากาแฟยังเป็นพืชน่าปลูก และกาแฟขาดตลาดทุกปี ทางภาคใต้ยังมีโอกาสดี และเหมาะสมมากที่สุด ถ้ามีการโค่นยางพาราก็ปลูกกาแฟเสริมเข้าไป แต่ยางพาราก็ไม่ทิ้ง และเรื่องการตลาดกาแฟไม่ต้องหวั่นวิตก สหกรณ์กาแฟ จำกัด และกลุ่มกาแฟต่าง ๆ โดยเฉพาะ จ.ชุมพร จะรับซื้อทั้งหมด” นายนัดกล่าว

นายนัดกล่าวอีกว่า เร็ว ๆ นี้จะมีการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟอาเซียน ครั้งที่ 1 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 พฤศจิกายน 2561 ที่ศูนย์ประชุมแสดงสินค้าเฉลิมพระเกียรติฯ จ.เชียงใหม่ โดยภายในงานจะมีผู้ประกอบการ เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในอาเซียน มาเข้าร่วม โดยปัจจุบันเวียดนาม นับเป็นประเทศที่ปลูกกาแฟมากที่สุดในอาเซียน และเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล ขณะเดียวกันนักลงทุนไทยได้เข้าลงทุนในอินโดนีเซียและ สปป.ลาว จำนวนมาก บางรายได้รับสัมปทานเช่าพื้นที่และลงทุนปลูกกาแฟใน สปป.ลาว กว่า 17,000 ไร่ เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับมีโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย

นายสมคิด รัตนวงศ์ เกษตรจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดพัทลุง (กยท.) ได้เร่งขับเคลื่อนโครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางพารารายย่อยเพื่อความยั่งยืนขึ้น โดยกยท.ได้ขยายการรับสมัครและอนุมัติให้เกษตรกรของ จ.พัทลุง เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม จำนวน 552 ราย โดยได้จัดอบรมเกษตรกร หลังจากนั้นสำนักงานเกษตรอำเภอจะแจ้งรายชื่อผู้ผ่านการอบรมให้ กยท. เพื่อขอรับเงินชดเชยเพิ่มไร่ละ 6,000 บาท หากผ่านการอบรมครบ 2 ครั้ง เกษตรกรจะได้รับเงินชดเชยไร่ละ 10,000 บาท ขณะนี้เกษตรกรเริ่มมีการโค่นยางพารา และหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแล้ว เช่น กาแฟ ทุเรียน ปาล์ม และผักพื้นบ้าน

ด้านแหล่งข่าวจากวงการเกษตรจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดพัทลุงเริ่มมีการปลูกกาแฟเพิ่มขึ้นตามลำดับประมาณ 1,000 ไร่ เป็นการปลูกพืชร่วม ระหว่างต้นยางพารา สวนผลไม้ และสวนป่า ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์โรบัสต้า และมีการทดลองปลูกพันธุ์อราบิก้า ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกทางภาคเหนือ คาดว่าอีก 2 เดือนข้างหน้า จะเริ่มเก็บเกี่ยวได้แล้ว