
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม ระดับน้ำโขง ยังเพิ่มระดับต่อเนื่องในช่วง 2 -3 วันที่ผ่านมา หลังมี่ฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วม ในพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้ระดับน้ำโขง เพิ่ม ขึ้นวันละประมาณ 10 -15 เซนติเมตร ล่าสุดระดับน้ำโขงยังจ่อวิกฤติอยู่ที่ระดับประมาณ 11.55 เมตร ห่างจากจุดวิกฤติล้นตลิ่ง ประมาณ 1.45 เมตร คือที่ระดับประมาณ 13 เมตร แต่ยังคงเกิดปัญหาเรื่องการระบายน้ำลงน้ำสาขาได้ช้า ส่งผลให้ บางพื้นที่ติดกับลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม และลำน้ำก่ำ ที่รองรับน้ำมาจากหลายพื้นที่ ก่อนลงแม่น้ำโขง ยังคงมีปัญหาเอ่อท่วม บ้านเรือน และพื้นที่การเกษตร โดยจากการสรุปข้อมูลล่าสุดของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม พบว่า มีพื้นที่ประกาศประสบภัยพิบัติน้ำท่วม ทั้งจังหวัด รวม 12 อำเภอ 94 ตำบล 908 หมู่บ้าน 17,454 ครัวเรือน รวมชาวบ้านได้รับผลกระทบ 51,080 คน มีถนนได้รับความเสียหาย กว่า 111 สาย และมีพื้นที่การเกษตร ได้รับผลกระทบ เกือบ 2 แสนไร่ อยู่ระหว่างการสำรวจเร่งการช่วยเหลือ ตามระเบียบทางราชการ
ขณะเดียวกันทางจังหวัดนครพนม ยังคงประกาศเตือนให้ประชาชน เฝ้าระวังน้ำโขงเอ่อท่วมซ้ำอีกรอบสอง เนื่องจากยังมีปริมาณสูงจ่อวิกฤต แจ้งเตือนประชาชน ในพื้นที่เสี่ยง ติดกับน้ำโขง 4 อำเภอ รวมถึงลำน้ำสาขาเตรียมพร้อมจัดเก็บสิ่งของขึ้นที่สูง อพยพเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงการเกษตรขึ้นที่ สูง หากมีฝนตกหนักลงมาซ้ำอีก คาดว่าจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากระบายลงน้ำโขงช้า พร้อมประสานทางชลประทาน เร่งทำการผันน้ำ จากลำน้ำก่ำ ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ลงสู่แม่น้ำโขงให้มากที่สุด เพราะลำน้ำสาขาสายหลักยังมีประมาณเกินความจุ ประมาณ 10 -15 เปอร์เซ็นต์ โดยปัจจุบัน ลำน้ำสาขา 3 สาย มี ลำน้ำก่ำ ลำน้ำอูน และลำน้ำ สงคราม สามารถระบายน้ำลงน้ำโขงได้วันละประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ระบบผลักดันน้ำด้วยไฟฟ้า เสริมทุกจุด
ส่วนที่จังหวัดบึงกาฬ เมื่อวันที่ 20 ส.ค. เวลา 07.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้เกิดจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำงึม 1 เร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนก่อนจะเกินความจุ ประกอบกับมีน้ำเหนือจากจังหวัดหนองคายไหลลงมาสมทบและในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ทั้ง 8 อำเภอ ยังคงมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเช้าวันนี้ระดับน้ำโขงในพื้นที่ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ มีระดับน้ำ 12.80 เมตร (ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากวานนี้ 25 เซนติเมตร) ห่างจากจุดวิกฤต 1.20 เมตร

โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ปากคาด มีระดับน้ำ 11.40 เมตร (ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากวานนี้ถึง 90 เซนติเมตร) ห่างจากจุดวิกฤตเพียง 60 เซนติเมตร ปริมาณน้ำที่สูงขึ้น ได้ไหลย้อนเข้าลำห้วยสาขา และในพื้นที่ลุ่ม ชลประทานบึงกาฬ ต้องปิดประตูระบายน้ำห้วยคาด ทั้ง 6 บาน ไม่ให้น้ำไหลย้อนกลับ พร้อมเดินเครื่องเร่งสูบน้ำทั้ง 4 เครื่อง ระบายน้ำวันละ 0.55 ล้าน ลบ.ม. ออกจากลำห้วย ลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรใน อ.โซ่พิสัย และ อ.ปากคาด
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.บึงกาฬ ได้สั่งการให้ ปภ. ชลประทาน และทหารรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดบึงกาฬ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะในพื้นที่อำเภอปากคาด เหลือเพียง 60 เซนติเมตรน้ำก็จะล้นตลิ่ง ส่วนในพื้นที่ อ.เมืองบึงกาฬ ได้สูบพร่องน้ำออกจากหนองเงี่ยง หนองกุดทิง แก้มลิงที่รับน้ำในเขต อ.เมืองบึงกาฬ พร้อมสั่งเปิดบานประตูระบายน้ำห้วยบังบาด ระบายน้ำลงแม่น้ำโขง เนื่องจากเมื่อคืนที่ผ่านมา ฝนตกหนักมาก น้ำด้านบนภูเขาไหลลงมาจำนวนมาก เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ อ.เมือง อ.บุ่งคล้า อ.ศรีวิไล อ.บึงโขงหลง และ อ.เซกา ซึ่งสถานการณ์โดยรวมยังรับมือได้
ที่มา : มติชนออนไลน์