มหาสารคามชงแผนแม่บท5ปีพันล้าน ผุด28โปรเจ็กต์พัฒนาเมืองดันการศึกษา-ท่องเที่ยว

ประชากรแฝงล้น - มหาสารคามมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาตั้งอยู่ในพื้นที่หลายแห่ง ทำให้มีประชากรแฝงที่เป็นนักศึกษานับแสนคนและเกิดปัญหางบประมาณจัดสรร ไม่เพียงพอ โดย 4 เทศบาลมหาสารคาม ชงของบประมาณกรมโยธาธิการและผังเมืองทำแผนแม่บท 5 ปี จ..านวน 28 โครงการ รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,028 ล้านบาท

4 เทศบาลมหาสารคามชงของบประมาณกรมโยธาธิการและผังเมืองกว่า 1 พันล้านบาททำแผนแม่บท 5 ปี พัฒนาเมืองการศึกษาสมบูรณ์แบบ ชูท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรมเมืองรอง ด้านกรมโยธาธิการรับลูกว่าจ้าง “บริษัท ไฟนอล ดีไซน์ คอนซัลแตนท์ จำกัด” ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด 16 เดือนแล้วเสร็จสิงหาคม 2562

นายแพทย์กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย อยู่ระหว่างว่าจ้างบริษัท ไฟนอล ดีไซน์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้มาทำโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชน จังหวัดมหาสารคาม มีระยะเวลา 16 เดือน (17 เม.ย. 61-9 ส.ค. 62) ตามข้อมูลในแผนแม่บทเบื้องต้นที่แต่ละเทศบาลนำเสนอไปมีทั้งสิ้นจำนวน 28 โครงการ รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,028 ล้านบาท แบ่งเป็นเทศบาลเมืองมหาสารคาม 21 โครงการ วงเงินงบประมาณ 670 ล้านบาท เทศบาลตำบลบรบือ จำนวน 2 โครงการ วงเงินงบประมาณ 166 ล้านบาท เทศบาลตำบลโคกพระ จำนวน 3 โครงการ วงเงินงบประมาณ 36 ล้านบาท และเทศบาลตำบลพยัคฆภูมิพิสัย จำนวน 2 โครงการ วงเงินงบประมาณ 156 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าโครงการทั้งหมดจะเสนอขอใช้งบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมืองปี 2563 เป็นต้นไป

ที่ผ่านมาทางเทศบาลเมืองมหาสารคามได้มีการวางแผนงานเพื่อพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง โดยได้มีการหารือกับทุกภาคส่วนในรูปของคณะกรรมการสมัชชาพลเมือง ตามแผนแม่บทเทศบาลเมืองมหาสารคามมี 21 โครงการ วงเงินงบประมาณ 670 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างปรับปรุงผิวจราจร ทางเท้าและภูมิทัศน์ถนน 6 สาย ได้แก่ (1) ถนนนครสวรรค์ ระยะทาง 9 กม. วงเงิน 108,000,000 บาท (2) ถนนผดุงวิถี ระยะทาง 3.75 กม. วงเงิน 45,000,000 บาท (3) ถนนฉิมพลีเจริญ ระยะทาง 3 กม. วงเงิน 14,000,000 บาท (4) ถนนมหาชัยดำริห์ ระยะทาง 4 กม. วงเงิน 14,000,000 บาท (5) ถนนมหาสารคาม-วาปีปทุม ระยะทาง 3 กม. วงเงิน 22,000,000 บาท (6) ถนนริมคลองสมถวิล ระยะทาง 2.50 กม. วงเงิน 9,000,000 บาท

2.โครงการก่อสร้างปรับปรุงระบบระบายน้ำถนน 2 สาย ได้แก่ (1) ถนนนครสวรรค์ ระยะทาง 9 กม. วงเงิน 72,000,000 บาท (2) ถนนผดุงวิถี ระยะทาง 3.75 กม. วงเงิน 36,000,000 บาท

3.โครงการก่อสร้างลานพระบรมราชานุสาวรีย์ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ (ลานหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคาม) วงเงิน 24,000,000 บาท 4.โครงการปรับปรุงสวนสาธารณะ 7 แห่ง ได้แก่ (1) บ้านส่องนางใย วงเงิน 11,000,000 บาท (2) บ้านแมด วงเงิน 7,000,000 บาท (3) ประมวลสุข วงเงิน 5,000,000 บาท (4) หนองกระทุ่ม วงเงิน 10,000,000 บาท (5) สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ วงเงิน 15,000,000 บาท (6) หนองข่า วงเงิน 43,000,000 บาท (7) สมถวิล วงเงิน 3,500,000 บาท (8) ศรีสวัสดิ์ วงเงิน 3,500,000 บาท (9) เลิงน้ำจั๊น วงเงิน 15,000,000 บาท 5.โครงการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ วงเงิน 167,000,000 บาท 6.โครงการก่อสร้างซุ้มประตูเมือง 4 มุมเมือง วงเงิน 34,000,000 บาท 7.โครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่างโดยรอบเส้นทางจักรยานแก่งเลิงจาน วงเงิน 12,000,000 บาท

“เนื่องจากมหาสารคามได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการศึกษา แต่ละปีจะมีผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาเล่าเรียนอยู่ในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคามหลายหมื่นคน เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นรวดเร็ว จึงเกิดปัญหาตามมามากมาย อาทิ ขยะ น้ำเสียจากชุมชน การจราจร ฯลฯ แต่ปกติเทศบาลเมืองมหาสารคามได้รับการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายปีละกว่า 400 ล้านบาท และงบฯพัฒนา 40 ล้านบาท ไม่เพียงพอจึงจำเป็นต้องเสนอของบประมาณจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุน

โครงการพัฒนาส่วนหนึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ คือ องค์กรคุณภาพ การศึกษาเด่น เป็นเมืองน่าอยู่ สู่สังคมเป็นสุข และนโยบาย 4 คุณภาพ คือ เมืองคุณภาพ สังคมคุณภาพ ชีวิตคุณภาพ และการบริหารจัดการคุณภาพ ดังนั้น ในการจัดทำแผนพัฒนา 4 ปี (2562-2565) จึงต้องครอบคลุมในทุกด้านเพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เข้ามาในพื้นที่มากขึ้น สาธารณูปโภคพื้นฐานต้องพร้อม สภาพแวดล้อมต้องดี มีความเป็นเมืองน่าอยู่ เหมาะสมกับเป็นเมืองการศึกษา และรองรับการลงทุน ที่ผ่านมามีทุนส่วนกลางและทุนท้องถิ่นเข้ามาลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ราคาที่ดินขยับสูงขึ้นทุกปี มหาสารคามไม่ใช่เมืองอุตสาหกรรม แต่เป็นเมืองที่มีจุดเด่นทางด้านการศึกษา และศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามให้คงไว้ สำหรับแผนพัฒนาฉบับนี้จะนำเข้าสภาเทศบาลเมืองมหาสารคาม เป็นเทศบัญญัติจากนั้นส่งให้ทาง ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามอนุมัติ” นพ.กิตติศักดิ์กล่าว

ผศ.ดร.สุรทิน นาราภิรมย์ รองนายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเทศบาลเมืองมหาสารคามมีพื้นที่ 24.15 ตร.กม. มีประชากร 53,000 กว่าคน แต่มีมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ทำให้ประชากรแฝงที่เป็นนักศึกษานับแสนคน รวมถึงคนที่เข้ามาค้าขายด้วย แต่ได้จัดสรรงบประมาณน้อยมาก ทางเทศบาลมหาสารคามจึงต้องเตรียมตั้งเรื่องเสนอของบประมาณ 670 ล้านบาทจากกรมโยธาธิการฯมาช่วยพัฒนาเมือง ซึ่งถือเป็นเมืองกึ่งกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในกรอบระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563-2567 ทั้งนี้ หากโครงการทั้งหมดเสร็จสิ้นในอีก 5 ปี ถนนในเมืองจะมีความเป็นระเบียบ

“เราได้ชื่อว่าเป็นเมืองการศึกษา แต่หากเมืองไม่เรียบร้อย ไม่ส่งเสริมให้คนมาเรียน ขณะเดียวกัน ความที่เป็นเมืองเล็กปกติเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับนักศึกษา ช่วงปิดเทอม 3-4 เดือนเงียบเลย เราอยากส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว เพราะเราเป็นเมืองรองจากขอนแก่น ด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ผ่านมามีทุนส่วนกลางเข้ามาลงทุนทำหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ ทำให้ราคาที่ดินปรับขึ้นตลอด”

เศรษฐกิจบูม-ค้าปลีกคึกคัก

เศรษฐกิจของเมืองมหาสารคามเดินหน้าได้ด้วยกำลังซื้อหลักจากนิสิตนักศึกษา ดังนั้น หลังการเปิดภาคเรียนธุรกิจทุกด้านกลับมาคึกคัก โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก

แพทย์หญิงโสรยา คณาสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเสริมไทยคอมเพล็กซ์ ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น เปิดเผยว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศจะชะลอตัว พืชผลการเกษตรตกต่ำ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองทำให้เศรษฐกิจซบเซา แต่เศรษฐกิจเมืองมหาสารคามยังเดินหน้าไปได้ ตัวเลขยอดขายอาจไม่ถึงกับเติบโตมากแต่ยังไปได้เรื่อย ๆ เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคไม่ได้ผูกติดกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กำลังซื้อมาจากหลายกลุ่ม อาทิ นักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาน่าจะเกือบแสนคน จากภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ข้าราชการที่มีรายได้ประจำ และพาณิชย์ เป็นต้น หากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำแต่กำลังซื้อจากภาคการศึกษายังสูงมาทดแทนกำลังซื้อกลุ่มที่มีปัญหาได้ นี่คือจุดแข็งของเศรษฐกิจเมืองมหาสารคาม

ช่วงนี้ปริมาณลูกค้ามาใช้บริการห้างเพิ่มขึ้นพอสมควร ทางห้างมีการเปิดเฟส 2 “เสริมไทยอินเดอะการ์เดนซ์” ใช้งบฯลงทุนกว่า 400 ล้านบาท ทำให้มีพื้นที่ใช้สอยในห้างเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 ตารางเมตร และมีร้านค้าเข้ามาเปิดเพิ่มขึ้นกว่า 100 ร้าน จึงทำให้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ สำหรับกิจกรรมช่วงนี้เพื่อรองรับกำลังซื้อช่วงหน้าฝนจากผู้บริโภคทุกกลุ่มอายุ แต่ละแผนกจึงมีการจัดกิจกรรมลด-แลก-แจก-แถม ทุกแผนกลงหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นการคืนกำไรให้ลูกค้าเป็นพิเศษ และกิจกรรมเอาใจลูกค้าวัยรุ่น

นายกฤษฎากร ด้วงกระยอม นักธุรกิจผู้จัดตลาดนัดในพื้นที่ จ.มหาสารคาม เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจค้าปลีกในตลาดนัดกลับมาคึกคักมาก โดยเฉพาะตลาดไนต์ที่บริหารงานโดยหอการค้าจังหวัดมหาสารคาม หลังสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่เปิดภาคเรียน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นทุกด้าน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธุรกิจตลาดนัดเมืองมหาสารคามมีการแข่งขันกันดุเดือดมาก ตลาดทุกแห่งพยายามเน้นเปิดใกล้สถานศึกษา และเปิดสลับกันครบ 7 วัน ทำให้ผู้จัดตลาดนัดบางรายใช้กลยุทธ์เก็บค่าเช่าถูก และห้ามร้านค้าในกลุ่มไปวิ่งรอกขายตลาดนัดแห่งอื่น