แกนนำยางใต้เสนอพรรคการเมืองใช้ไอเดีย “สวนยางยั่งยืน” หาเสียง หวังแก้วิกฤตราคายาง

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) เปิดเผยว่า จากปัญหาวิกฤตราคายางที่ผ่านมามีหลายฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สวนยางยั่งยืน โดยเฉพาะการนำร่องสวนยางยั่งยืนในสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 5 ล้านไร่ จะช่วยลดซัพพลายยางไม่น้อยกว่าปีละ 5 แสนตัน จะช่วยแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำได้ระดับหนึ่ง

แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า ดังนั้น สมาคมจึงนำเสนอแนวทางให้พรรคการเมืองทุกพรรคนำไปใช้เป็นนโยบายหาเสียงกับชาวสวนยางทั่วประเทศที่มี 10 ล้านเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไปโดยไม่สงวนลิขสิทธิ์ เพื่อเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นป่ายางที่มีสมดุลเชิงนิเวศและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ มีการทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง มีการปลูกพืชร่วมยาง การทำเกษตรผสมผสาน และมีการปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจตามแนวทางธนาคารต้นไม้

“ผลที่จะได้รับจากการทำสวนยางยั่งยืนคือ ผลผลิตยางจากสวนยาง 40-44 ต้นต่อไร่ จะมีผลผลิตที่ใกล้เคียงกับสวนยางเชิงเดี่ยว 70-80 ต้นต่อไร่ นอกจากนั้นต้นยางจะต้านทานโรค เปอร์เซ็นต์น้ำยางสูงขึ้น เพราะหลักทางวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ ต้นยางพาราต้องอยู่ร่วมกับพืชอื่นจึงจะเติบโตสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่เป็นโรค และหากสวนยางจะมีความชื้นสัมพัทธ์สูง สามารถกรีดยางตอนกลางวันได้ช่วง 17.00-18.00 น. ลดต้นทุนการผลิต ทั้งปุ๋ย แรงงาน และการใช้สารเคมี สร้างรายได้เสริม ลดการพึ่งพารายได้จากยางเพียงอย่างเดียว และเป็นวิธีแก้ปัญหาราคายางตกต่ำอย่างยั่งยืน หากชาวสวนมีรายได้เสริมเพียงพอยังชีพ สามารถหยุดกรีดยางทั้งประเทศ ทำให้เกษตรกรชี้นำราคายางได้จริง”  นายสุนทรกล่าว

นายสุนทรกล่าวอีกว่า รัฐบาลควรทำโครงการนำร่องสวนยางยั่งยืน ในพื้นที่สวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิประมาณ 5 ล้านไร่ เพื่อแก้ปัญหาสิทธิในที่ทำกินของเกษตรกรผู้ยากไร้ 3 แสนครัวเรือน โดยให้เกษตรกรรวมกลุ่มทำสวนยางยั่งยืนและขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินตามกฎหมายภายใต้กรอบสิทธิชุมชน ทำให้เพิ่มพื้นที่ป่าไม้เศรษฐกิจได้ทันที 5 ล้านไร่ โดยไม่ขัดแย้งกับคนจน จากการโค่นต้นยางตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลนี้ และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้ชุมชนช่วยดูแลป่าไม้ที่เหลือ ตามแนวทางคนอยู่ป่ายัง สร้างป่าสร้างรายได้


ที่มา มติชนออนไลน์