เชียงใหม่ระดมแผน“Chiang Mai Forum” ชูย่านนิมมานฯ-มช.นำร่อง Smart City

จังหวัดเชียงใหม่ปรับกระบวนท่าการพัฒนาเมืองเชียงใหม่สู่การเป็น Smart City ใหม่ รุกคืบพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน ประกาศพื้นที่นำร่องในปี 2561-2562 คือ โครงการ Smart Nimman ย่านถนนมินมานเหมินท์ และ Smart University ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดประชุมหารือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ (Chiangmai Forum) ครั้งที่ 1/2561 ณ โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง โดยกำหนดประเด็นในการหารือครั้งนี้ภายใต้หลักคิด การพัฒนาเมืองเชียงใหม่สู่การเป็น “Smart City” ซึ่งการประชุมดังกล่าว มีนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุม โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรภาคเอกชน และตัวแทนนักธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนาเมืองเชียงใหม่สู่การเป็น Smart City ในครั้งนี้


นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็น Smart City ในพื้นที่นำร่องตามแผนงานในปี 2561-2562 ของจังหวัดเชียงใหม่ คือ โครงการ Smart Nimman และโครงการ Smart University ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สู่การเป็น Smart City โดยภาคเอกชนสนับสนุนให้จังหวัดเชียงใหม่ หรือหน่วยงาน/องค์กร เป็นเจ้าภาพในการพัฒนาพื้นที่ Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งพื้นที่เดิมตามแผนงานหรือพื้นที่อื่นที่มีความเหมาะสม โดยเน้นการสร้างความรับรู้ให้แก่ประชาชน ตลอดจนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการดำเนินการ อาทิ การปรับปรุงภูมิทัศน์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การติดตั้งกล้อง CCTV ของตำรวจ การสร้างระบบจุดจอดรถอัจฉริยะ เป็นต้น

ทั้งนี้ การจัดเวที Chiang Mai Forum เพื่อพบปะหารือกับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน และสถาบันการศึกษา ได้ตั้งเป้าว่าจะจัดการประชุมในทุกเดือน โดยจะนำหัวข้อการพัฒนา Smart City เป็นประเด็นแรก ซึ่งปัจจัยหนึ่งของการเป็นสมาร์ท ซิตี้นั้น คือการมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี เป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเมือง และจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรของเมือง

โดยจังหวัดเชียงใหม่จะเดินหน้าด้วยยุทธศาตร์เชิงรุก รับ และปรับตัว โดยเชิงรุกคือการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น การพัฒนาเมืองให้เป็นสมาร์ท ซิตี้ ขณะเดียวกันก็ต้องรุกพัฒนาปัญหาเดิมที่มีอยู่ อาทิ ปัญหาน้ำเสียในคลองแม่ข่า ปัญหาขยะและขยะติดเชื้อ ที่ต้องพัฒนาเรื่องการคัดแยกขยะ ส่วนยุทธศาสตร์เชิงรับและปรับตัวคือ การปรับและพัฒนาในสิ่งที่มีต้นทุนอยู่แล้วให้ดีขึ้น เช่น ด้านท่องเที่ยว ด้วยการทำให้เมืองมีความน่าอยู่ปลอดภัย และรักษาแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ของเมืองให้เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต เป็นต้น