“ลือพงษ์ อ๋องเจริญ” ชูธง ประชารัฐคิดข้ามชอตสู่ Trang 4.0

บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ถือเป็นหนึ่งฟันเฟืองในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการ “ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน” ใน 76 จังหวัด โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อ “พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง ประชาชนมีความสุข และมีรายได้เพิ่มขึ้น” โดยใช้พลัง “ประชารัฐ” เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน คือ ชุมชนลงมือทำ เอกชนขับเคลื่อน และรัฐบาลสนับสนุน” “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายลือพงษ์ อ๋องเจริญ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตรัง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ถึงนโยบายและทิศทางการดำเนินงานปัจจุบันและอนาคต

ทิศทางพัฒนาประชารัฐฯตรัง

บริษัทได้ศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อม จุดแข็งของจังหวัดตรัง ในเรื่องต้นทุนทางธรรมชาติ มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในท้องทะเล ชายฝั่ง และป่าดิบชื้นในป่าเทือกเขาบรรทัด รวมถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทางด้านสติปัญญาแหล่งศึกษาในพื้นที่ และเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบินตรัง ท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยว ท่าเรือขนส่งสินค้า และเส้นทางรถไฟสายอันดามัน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานไว้แล้ว ด้วยศักยภาพของจังหวัดตรัง ซึ่งเชื่อมทะเล 2 ฝั่งคือ อ่าวไทยและอันดามัน บริษัทจึงได้นำจุดแข็งและโอกาสมาปักหมุดกำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดตรังไปสู่ Trang 4.0 ภายใต้ภารกิจของบริษัท ทั้งด้านการเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างมีทิศทางที่ชัดเจน

3 ยุทธศาสตร์สู่ Trang 4.0

ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ 1.ด้านการเกษตร พัฒนาจังหวัดตรังให้เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์และสมุนไพร ปรับยุทธศาสตร์การทำเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งใช้สารเคมีและทำลายสภาพแวดล้อม เป็นเกษตรแบบผสมผสานหรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่ดูแลสุขภาพ มีกำลังซื้อปานกลางและสูง เป็นการยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้น

2.ด้านการแปรรูป พัฒนาจังหวัดตรังให้เป็นเมืองเวชสำอาง โดยจังหวัดตรังมีต้นทุนทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ล้วนเป็นต้นทุนขุมทรัพย์ทางธรรมชาติที่มีคุณค่าและมูลค่า สามารถนำมาวิจัยและพัฒนา เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0

3.การท่องเที่ยวโดยชุมชนพัฒนาจังหวัดตรังให้เป็นเมืองเวชนคร (medicopolis) และเมืองตักศิลาศูนย์กลางการศึกษาอันดามัน ในส่วนเมืองเวชนคร เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและบริการทางการแพทย์ โดยจังหวัดตรังมีต้นทุนที่สำคัญ คือที่ดินชายทะเล ซึ่งทางราชการได้ประกาศเป็นที่สาธารณประโยชน์ทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ทุ่งหาดยับ ตั้งอยู่ชายทะเลฝั่งอันดามันที่บ้านเจ้าไหม ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง เนื้อที่ 1,344 ไร่ อยู่ในการดูแลของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย หากมีการใช้ประโยชน์เต็มพื้นที่ จะนำรายได้เข้าประเทศและจังหวัดตรัง ปีละหลายหมื่นล้านบาท เป็นการเพิ่ม GDP ภาคบริการของประเทศไทย

ฮับการศึกษาอันดามัน

ส่วนแนวคิดเมืองตักศิลาศูนย์กลางการศึกษาอันดามัน หากสถาบันการศึกษาหลายแห่งได้ร่วมกันวางแผนพัฒนาแบบบูรณาการ โดยมุ่งเป้าให้เป็นเมืองตักศิลาศูนย์กลางการศึกษาอันดามัน จะก่อประโยชน์ในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เป็นการพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีคุณภาพ คุณธรรม และเป็นแหล่งศึกษาดูงานที่สำคัญแห่งหนึ่งของฝั่งทะเลอันดามัน

ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การพัฒนาเศรษฐกิจทั้งเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจกระแสหลักตามนโยบายสานพลังประชารัฐต้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เป็นการพัฒนาแบบองค์รวมมองให้ครอบคลุมทุกด้าน ทุกมิติแบบบูรณาการเชิงพื้นที่และมองเพื่ออนาคตด้วยมุมมองที่หลากหลายและสร้างสรรค์ จึงถือเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน