ทางเลือก ทางรอด “อุตสาหกรรมไทย” ใน EEC

ความพยายามของรัฐบาลในการปลุกปั้นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ในพื้นที่ 3 จังหวัด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง โดยเฉพาะการผลักดัน 10 อุตสาหกรรม (S-curve) ส่งผลให้ผู้ประกอบการสัญชาติไทยรายกลาง รายเล็กจะต้องตื่นตัวเตรียมพร้อมในทุกด้าน ดังนั้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ได้จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “ทางเลือก ทางรอด ของอุตสาหกรรมไทยใน EEC” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 900 คน

“สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า วันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก (disruptive technologies) เห็นได้จากอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องยนต์กลไกมีการเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก อุตสาหกรรมหุ่นยนต์มีการพัฒนาจนราคาถูกลง ผู้ประกอบการทุกคนจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ อุตสาหกรรมใหญ่ระดับโลกล้มหายกันไปจำนวนมากแล้ว ระบบการศึกษาของไทยเปลี่ยนแปลงไม่ทัน ดังนั้น ทางรอดของผู้ประกอบการยุคปัจจุบันขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีและนวัตกรรม ต้องไปเรียนรู้ ทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมอยู่รอดได้ ต้องสร้างความตระหนัก โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมใหม่ของรัฐบาลใน EEC มีหลายอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยทำไม่ได้ แต่ที่สำคัญคือ ภาครัฐต้องเปิดโอกาสและผลักดันให้ภาคเอกชนไทยค่อย ๆ เข้าไปเรียนรู้การทำงานและพัฒนาร่วมกับพันธมิตร และต่อยอดเป็นซัพพลายเชนให้กับอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้ได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการในพื้นที่เจริญเติบโตอย่างมั่นคง และไม่มีปัญหาสิ่งแวดล้อม

“สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ได้เผยกลยุทธ์ที่สำคัญของทางรอดอุตสาหกรรมไทยว่า ผู้ประกอบการไทยจะไปรอดหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับการบริหาร ต้องรู้จักเรียนรู้จากประสบการณ์เมื่อทำธุรกิจ และพยายามอย่างสุดกำลังเมื่ออยู่ในวิกฤต เพราะปัญหาในการทำธุรกิจสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ตัวอย่างของไทยซัมมิทเกิดมาด้วยเงินทุนเพียงหลักหมื่นบาทตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง จนมาเจอวิกฤตต้มยำกุ้งที่ต้องรัดเข็มขัดแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่น ต้องวิ่งหาออร์เดอร์ด้วยตัวเองจากต่างประเทศ ที่สำคัญต้องเซฟตัวเองเมื่อทำธุรกิจร่วมกับต่างชาติ สามารถทำงานภายใต้แรงกดดันและปกป้องตัวเองเพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบได้

“สาโรจน์ วสุวานิช” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า เมื่อเกิด EEC อยากกระตุ้นผู้ประกอบการไทยขยายตัวได้มากขึ้น ไม่ใช่ EEC เกิดขึ้น คนไทยขายแรงงานได้มากขึ้น เตรียมผลิตแรงงานเพื่อรองรับทุนต่างชาติที่จะมาลงทุน สังเกตได้จากที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์เติบโตขึ้นเกือบ 100% แต่สัดส่วนผู้ประกอบการไทยเติบโตขึ้นเพียง 10-20% เพราะต่างชาตินำบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นซัพพลายเชนของต่างชาติเองเข้ามาด้วย

ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันในเรื่อง QCD-Quality Cost และ Delivery QCD แต่เราแพ้ในเรื่องของนโยบาย เพราะทุนต่างชาติเกื้อกูลกันเองในกลุ่มเดียวกัน จึงต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยธุรกิจสายพันธุ์ไทย ทำอย่างไรให้บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนต้องมาทำธุรกิจกับผู้ประกอบการคนไทยในพื้นที่ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องพยายามเรียนรู้พัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง และผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องจับมือช่วยผู้ประกอบการรายกลางรายเล็กด้วย

“วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม” ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการลงทุนอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย เปิดเผยว่า ตอนนี้การขับเคลื่อน EEC เป็นรูปธรรมแล้ว หลัง พ.ร.บ.EEC มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 ตอนนี้กำลังเร่งออกกฎหมายลูกอีก 20-30 ฉบับ ขณะเดียวกันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการ เช่น รถไฟความเร็วสูง มีคนมายื่นซองประมูลแล้ว 31 ราย ต้นปี 2562 จะได้ผู้ลงทุน ส่วนการสร้างสนามบินอู่ตะเภาเตรียมทำ TOR ภายในปีนี้ต้องเปิดให้เอกชนมาลงทุน และได้เอกชนต้นปี 2562 มีโครงการศูนย์ซ่อมสร้างอากาศยาน จะทำสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นมหานครแห่งการบิน มีการพัฒนาทางด้านโลจิสติกส์ที่จะเชื่อมโยงกับ CLMV ด้วย นอกจากนี้ มีโครงการพัฒนาเมือง (Smart City) กำลังไปเชิญชวนให้คนมาลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และการพัฒนาการท่องเที่ยวยุคใหม่ อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายของ EEC จะสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

อย่างไรก็ตาม EEC ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมต่อกับ CLMVT ในการกระจายการค้า การลงทุน และจะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถแข่งขัน และดึงดูดการลงทุนในช่วง 10-20 ปีข้างหน้าได้

นักวิชาการหวั่นเสี่ยง “กึ่งอาณานิคมทางเศรษฐกิจ”

จากงานสัมมนา “ทางเลือก ทางรอด ของอุตสาหกรรมไทยใน EEC” ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการดำเนินนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า การจะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์จาก EEC อย่างแท้จริง รัฐบาลควรศึกษาวิธีการอย่างชัดเจนว่าจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมไทยได้ประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ เช่น มีคุณภาพในด้านทรัพยากรมนุษย์ที่ดีพอ โดยเมื่อรัฐบาลประกาศการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ต้องมีการตระเตรียมบุคลากรมาเพื่อดูดซับความรู้และเทคโนโลยีด้วยรวมถึงเพื่อยกระดับผลิตภาพแรงงานและทุนเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันและพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น ตลอดจนผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายทางการค้าของไทย มีแบรนด์เนมของไทยเอง ไม่ใช่แค่รับจ้างผลิต หรือเป็นเพียงฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็น “กึ่งอาณานิคมทางเศรษฐกิจ”

ผศ.ดร.อนุสรณ์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าประเทศไทยจะแข่งกับประเทศข้างเคียง เช่น เวียดนาม และกัมพูชา ในด้านสิทธิประโยชน์นั้นเป็นไปได้ยาก เพราะประเทศไทยไม่ได้มีทรัพยากรเหลือเฟือมากเท่า ส่วนตัวมีความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องสร้างมาตรการจูงใจให้ต่างชาติในแบบที่ลดแลกแจกแถมมากนัก หากประเทศไทยปกครองด้วยระบบนิติรัฐ เพราะทุนต่างชาติจะมั่นใจว่าประเทศที่เข้าไปลงทุน เป็นไปตามกฎตามที่ตกลงกันไว้ ทั้งนี้ หากประเทศเราเป็นประชาธิปไตยที่เปิดกว้างไม่จำเป็นต้องให้ผลประโยชน์มากมาย หากมีความน่าเชื่อถือในความเป็นนิติรัฐที่มีความโปร่งใส ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น

“นอกจากนี้ คณะกรรมการอีอีซีต้องดำเนินการบนฐานผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น กระจุกตัวอยู่ที่คนเพียง 10% ของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อดูจากศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งยังมีความเหลื่อมล้ำสูงติดอันดับ 3 ของโลก ประเทศไทยจะออกแบบอีอีซีอย่างไรที่จะแก้ปัญหาโจทย์ประเทศ เพราะคนไทยคงไม่อยากเห็นชลบุรี มี GDP สูง แต่คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมไม่ดี” ผศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว