หอฯเชียงใหม่ผนึกมช.รุก”ฟินเทค” ตั้ง”CNX”ดัน10ธุรกิจสู่ฮับการเงินภาคเหนือ

ลงนาม MOU - หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรม

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่เล็งตั้ง “ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิทัลภาคเหนือ” ผนึกวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัท National Currency eXchange (NCX) Group จำกัด รุกตั้ง “บริษัท CNX FinTech” พร้อมดึงมือการเงิน “ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม” นั่งแท่นประธานอำนวยการ ดัน 10 ธุรกิจเข้าสู่กระบวนการ ICO ภายในปี 2562 ตั้งเป้าให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการเงินภาคเหนือ

นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัท National Currency eXchange (NCX) Group จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology : FinTech) ในระดับนานาชาติ โดยจะมีการจัดตั้งบริษัท CNX FinTech จำกัด ขึ้นมาเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาฟินเทคของภาคเหนือ และให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของฟินเทคในอนาคต ทั้งนี้ บริษัท CNX มีแผนพัฒนา 10 ธุรกิจแรกเข้าสู่กระบวนการออกเหรียญดิจิทัล (ICO-initial coin offering) ภายในปี 2562 เช่น ธุรกิจเทคโนโลยีอสังหาริมทรัพย์ (PropTech), ธุรกิจการศึกษานานาชาติ (EduTech), ธุรกิจสุขภาพ (HealthTech), ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (Cross-Border e-Commerce) เป็นต้น

“ภาคการค้า การท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ กำลังก้าวสู่สังคมไร้เงินสด (cashless society) มากยิ่งขึ้น และน่ายินดีที่ล่าสุดรัฐบาลได้สนับสนุนอุตสาหกรรม FinTech ให้เกิดขึ้นในอนาคต ทั้งการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ เพื่อให้ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม FinTech (FinTech Ecosystem) ในประเทศไทย”

ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า ความร่วมมือครั้งนี้ของภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม FinTech ที่เกิดขึ้นจะเป็นส่วนสำคัญให้เกิดกลไกเศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ทันสมัย ระบบการเงิน FinTech มีความปลอดภัย อันจะทำให้เกิดการตื่นตัว ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ FinTech ในพื้นที่ได้เกิดการพบปะและเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินของตนแก่ผู้ที่สนใจลงทุนหรือผู้ที่ต้องการนำนวัตกรรมไปใช้สามารถเกิดผู้ประกอบการใหม่ หรือ startup ในอนาคต อันจะส่งเสริม FinTech Ecosystem ในระยะยาวเกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ที่จะเพิ่มการหมุนเวียนทางด้านเศรษฐกิจที่เติบโตในยุคใหม่ได้

ด้าน ผศ.ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ระหว่างการนำเสนอโครงการจัดตั้งบริษัท CNX ภายใต้ holding company ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการออก ICO โดยมี ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม เป็นประธานอำนวยการ และมีรายนามกรรมการอำนวยการ ได้แก่ ศาสตราจารย์ Gunter Faltin, นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์, นายนิตย์ วังวิวัฒน์, นายวรวัฒน์ ตันตรานนท์, ท.พ.ศิระ ฮั่นตระกูล, นายสมศักดิ์ วงศ์ปัญญาถาวร, และนายภิญโญ ดวงฉ่ำ ซึ่งจะมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจของภาคเหนือด้วยเทคโนโลยีการเงิน ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถก้าวไปสู่ธุรกิจระดับนานาชาติได้ง่ายยิ่งขึ้น

Mr.Thushara Weerakody CTO บริษัท National Currency eXchange (NCX) Group จำกัด กล่าวว่า NCX Group เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศออสเตรเลีย สิงคโปร์ และโครเอเชีย มุ่งเน้นพัฒนาฟินเทคระดับโลก จะช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ให้กับผู้ลงทุน และสามารถยกระดับความน่าเชื่อถือให้กับผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเค็น (ICO portal) และจะจัดตั้งศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิทัล (digital token ex-change) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ได้อย่างแน่นอน โดยบริษัทหวังที่จะได้รับใบอนุญาต ICO ระดมทุนโดยการเปิดขายเหรียญแก่นักลงทุน เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้พัฒนาโครงการต่าง ๆ โดยหลักการที่ถูกต้องตามธรรมาภิบาล บริษัท CNX จึงต้องเป็นสาขากับ NCX เพื่อขอรับใบอนุญาตร่วมกันในประเทศไทย

ทั้งนี้ ตามที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างชัดเจน ทำให้ที่ผ่านมาฟินเทคของประเทศไทยได้รับความสนใจอย่างมากจากสถาบันการเงิน และสตาร์ตอัพทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งการระดมทุนด้วยการเสนอขายดิจิทัลโทเค็น (digital token) ต่อสาธารณชน หรือ ICO จะเป็นกลไกใหม่


ที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการระดมทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสตาร์ตอัพที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจะมีความคล่องตัวและแตกต่างจากการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนในครั้งแรก หรือ IPO ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยผู้ลงทุนจะได้รับเอกสารระบุสิทธิหรือผลประโยชน์ที่จะได้รับไว้ในสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) โดยการร่วมมือกันของทั้ง 3 หน่วยงานในครั้งนี้ในการเร่งจัดตั้งศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกของภาคเหนือ จะช่วยดึงผู้ประกอบการให้หันมาใช้บริการด้านการลงทุนเพิ่มมากขึ้น