มท.จี้ปศุสัตว์เก็บอากรโรงเชือดไก่ 2ปีกระทบท้องถิ่น-เทศบาลสูญเงินมหาศาล

เก็บอากร - กรมปศุสัตว์ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 แต่จนถึงวันนี้ยังไม่ออกกฎกระทรวงหรือกฎหมายลูกมาให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยนำไปปฏิบัติ โดยเฉพาะประเด็นการจัดเก็บอากร และค่าธรรมเนียมการฆ่าสัตว์ ทั้งหมู โค ไก่ เป็ด ห่าน เป็นต้น

มหาดไทยส่งหนังสือด่วนจี้กรมปศุสัตว์ ทวงถามเหตุผล 3 รอบไม่คลอด “กฎกระทรวง” เก็บอากร-ค่าธรรมเนียมการเชือดไก่-หมู ทั้งที่กฎหมายใหม่ประกาศใช้มาครบ 2 ปีแล้ว ส่งผลกระทบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาลสูญรายได้จำนวนมาก ไม่มีเงินบำรุงท้องถิ่น

แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือส่งไปยังอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อทวงถามเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2559 หรือเป็นเวลาประมาณ 2 ปีมาแล้ว ซึ่งตามขั้นตอนปฏิบัติกรมปศุสัตว์และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จะต้องร่วมกันในการยกร่างกฎกระทรวงหรือกฎหมายลูก 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่

พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับ เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ ซึ่งความล่าช้าดังกล่าวส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ในการจัดเก็บค่าอากร และค่าธรรมเนียมสูญเสียรายได้ไปจำนวนมาก ทั้งนี้ หนังสือทวงถามดังกล่าวถือเป็นฉบับที่ 3 ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ทำเรื่องสอบถามไปยังกรมปศุสัตว์

สำหรับร่างกฎกระทรวงวิธีปฏิบัติที่ต้องออก ประกอบด้วย 1.เรื่องประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการชำระอากรการฆ่าสัตว์ การคืนเงินอากรการฆ่าสัตว์ และการชำระค่าธรรมเนียมการรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ 2.ร่างแบบคำขอชำระค่าอากรฆ่าสัตว์ และ 3.ร่างแบบคำขอชำระค่าธรรมเนียมการรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ เพื่อให้ได้ข้อยุติร่วมกัน

โดยเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ทางกรมปศุสัตว์และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้เคยร่วมกันร่างกฎกระทรวงไว้ แต่ยังไม่ได้เสนอเข้า ครม. เพราะยังมีความเห็นบางอย่างไม่สอดคล้องกัน โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเห็นว่า ควรกำหนดอัตราเต็มเพดานอากร 20 สตางค์ และค่าธรรมเนียมขั้นสูงตามที่กำหนดในบทเฉพาะกาล เพราะหากในอนาคตรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยากปรับลดลง และจะได้ไม่ต่ำเกินไป ขณะที่กรมปศุสัตว์ต้องการกำหนดเพดานอัตราอากรขั้นต่ำเพียง 10 สตางค์

“คนโยนมาว่า การจัดเก็บอากรเป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทย และความล่าช้าตกอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งในความเป็นจริง การออกร่างกฎกระทรวงต้องทำงานร่วมกัน เราก็พยายามทวงถามทางกรมปศุสัตว์ไปหลายครั้ง เพราะตามปกติธรรมเนียมปฏิบัติของราชการ กฎหมายลูกหรือกฎกระทรวงควรต้องออกภายใน 1 ปีหลัง พ.ร.บ.ประกาศใช้บังคับ ถ้าออกกฎหมายลูกไม่ทันตามกำหนดจะต้องทำเรื่องชี้แจงไปยัง ครม. แต่ตอนนี้กรมปศุสัตว์ยังไม่มีการชี้แจงใด ๆ” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ทุกวันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเทศบาลต่าง ๆ ได้จัดเก็บค่าอากรและค่าธรรมเนียมต้องยึดปฏิบัติตามกฎกระทรวงเดิม ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2535 ยังไม่สามารถจัดเก็บตามอัตราที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ได้ และในกฎกระทรวงฉบับเดิมกำหนดให้จัดเก็บอากรการฆ่าสัตว์ เฉพาะโรงฆ่าสุกรและโค ยกเว้นการจัดเก็บอากรในการฆ่าสัตว์ปีก เช่น ไก่ เป็ด ห่าน

ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการฆ่าไก่เพื่อส่งออกและบริโภคภายในประเทศประมาณ 1,500 ล้านตัวต่อปี แบ่งเป็นการส่งออกเนื้อไก่ไปต่างประเทศเฉลี่ยปีละ 7-8 แสนตันต่อปี มูลค่าเกือบแสนล้านบาท หากมีการจัดเก็บอากรในการฆ่าสัตว์ปีกได้จะทำให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถจัดเก็บรายได้จำนวนมากไปพัฒนาท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีรายได้เข้ามา

สำหรับกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2536) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ฯ พ.ศ. 2535 ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 กำหนดให้เรียกเก็บอากรการฆ่าโค 12 บาท/ตัว กระบือ 15 บาท/ตัว สุกร 10 บาท/ตัว แพะหรือแกะ 4 บาท/ตัว ไก่ เป็ด หรือห่าน 10 สตางค์/ตัว แต่ให้ยกเว้นอากรการฆ่าสุกร ไก่ เป็ด หรือห่าน เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ รวมถึงการฆ่าในโรงฆ่าสัตว์ของส่วนราชการท้องถิ่น หรือหน่วยราชการอื่นใดที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีให้ยกเว้นเฉพาะอากรการฆ่าสัตว์

ขณะที่ พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ฯ พ.ศ. 2559 ในบทเฉพาะกาล ได้ปรับอัตราอากรและค่าธรรมเนียมขึ้น เป็นโค 20 บาท/ตัว กระบือ 25 บาท/ตัว สุกรหรือนกกระจอกเทศ 15 บาท/ตัว แพะหรือแกะ 10 บาท/ตัว ไก่ เป็ด หรือห่าน 20 สตางค์ต่อตัว และยังไม่ได้มีการออกกฎกระทรวงมาดำเนินการปฏิบัติ

อนึ่ง ก่อนหน้าที่ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ฯ พ.ศ. 2559 จะประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมาย ได้มีการปรับอัตราการจัดเก็บอากรและค่าธรรมเนียมการเชือดไก่จาก 10 สตางค์ ปรับขึ้นเป็น 2 บาท/ตัว พร้อมเก็บค่าธรรมเนียมอีก 2 บาท รวมเป็น 4 บาท ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ 9 สมาคม


ผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์ ประกอบด้วยสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อเพื่อการส่งออกไทย สมาคมผู้เลี้ยงเป็ดเพื่อการค้าและการส่งออก สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย สมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยได้รวมตัวกันยื่นหนังสือขอให้มีการทบทวนร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ฯ พ.ศ. 2559 คัดค้านการเก็บอากรการฆ่า และค่าธรรมเนียมการรับรองให้จำหน่ายเนื้อไก่ เป็ด ห่าน ในเดือนมิถุนายน 2559 โดยให้เหตุผลว่า ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเลี้ยงและการผลิต ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง ทำให้มีการปรับลดอากรและค่าธรรมเนียมลงเหลือเพียง 20 สตางค์ และในช่วงนั้นมีข่าวว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการปศุสัตว์พยายามเจรจาให้มีการยกเว้นอากรเหมือนในอดีตอีก จะส่งผลกระทบต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีรายได้เข้ามา