กปภ.ทุ่ม4หมื่นล้านรับEEC

แฟ้มภาพ

กปภ.ทุ่มเฉียด 4 หมื่นล้าน ลุยโปรเจ็กต์ 5 ปี เดินหน้าขยายพื้นที่ให้บริการน้ำประปาทั่วไทย พุ่งเป้ารองรับโครงการใหญ่ พื้นที่ EEC-เขตเศรษฐกิจพิเศษ-เมืองท่องเที่ยว ชี้มั่นใจสามารถรองรับการใช้น้ำของประชากรได้ 14 ปี ถึงปี”75

นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตเศรษฐกิจพิเศษ และส่งเสริมจังหวัดท่องเที่ยวหลัก ๆ กปภ.จึงได้ทบทวนยุทธศาสตร์และแผนการลงทุนต่าง ๆ ให้สามารถรองรับความต้องการใช้น้ำประปาที่จะมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงปี 2561-2565 โดยได้วางแผนปรับปรุงและขยายเขตการให้บริการน้ำประปาครอบคลุมพื้นที่ 74 จังหวัดทั่วประเทศให้มีกำลังการผลิตเพียงพอ ตลอดจนการวางแผนจัดหาแหล่งน้ำดิบรองรับ โดยมีแผนการลงทุนรวมทั้งหมด 1,234 โครงการ วงเงินงบประมาณเกือบ 40,000 ล้านบาท

ขยายลงทุนรับเมกะโปรเจ็กต์รัฐ

“กปภ.ต้องหาแหล่งน้ำเพื่อรองรับการให้บริการได้อย่างเต็มที่ เพราะน้ำถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการลงทุนในอนาคต ประมาณการว่าในอนาคต นอกจาก EEC จะกลายเป็นเมืองสมาร์ทซิตี้แล้ว ยังมีส่วนที่เป็นย่านเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับ กทม. ทั้งคนในพื้นที่และบุคคลที่เดินทางเข้ามาทำงาน”

โดยในพื้นที่ EEC มีบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ ที่ในอดีตขยายกำลังการผลิตไม่ทัน แต่ในปัจจุบันได้ร่วมมือกับกรมชลประทาน รวมทั้งมีการวางแผนสำรองน้ำในช่วงภาวะวิกฤต เพื่อให้การดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นระบบ กปภ.จึงสามารถวางแผนการลงทุนด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับงบประมาณได้ สำหรับพื้นที่ EEC ปัจจุบันมีแหล่งน้ำอยู่ 2 แห่งที่สามารถต่อท่อครอบคลุมพื้นที่ EEC คือ แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำประแสร์ จะเป็นเมกะโปรเจ็กต์ในระยะเวลา 5 ปี ด้วยงบประมาณระดับหมื่นล้านบาท หากโครงการเสร็จสิ้นการผลิตน้ำประปาของ กปภ.ในพื้นที่ EEC จะเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น และสามารถรองรับการใช้น้ำของประชากรได้จนถึงปี 2575

เดินหน้ากว่าพันโครงการปี”62

โดยปี 2562 กปภ.ได้ลงทุนตามแผนยุทธศาสตร์ทั้งหมด 11 ด้าน รวม 1,190 โครงการ วงเงิน 4,295.775 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.บริหารและพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับภารกิจ มีจำนวนที่เหมาะสมและมีความผูกพันต่อองค์กร 2.เสริมสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้มุ่งเน้นลูกค้าและคุณภาพงาน 3.บริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทันสมัย สนับสนุนการดำเนินงาน กระบวนการผลิตจ่าย บริหารงาน และบริการ 4.จัดหาและบริหารจัดการแหล่งน้ำดิบให้เพียงพอ

5.ผลิตจ่ายน้ำให้เพียงพอ พร้อมทั้งควบคุมคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐาน 6.บริหารจัดการลดน้ำสูญเสียอย่างเป็นระบบ 7.ขยายความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้บริการน้ำประปาที่มีคุณภาพ 8.สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าในด้านคุณภาพน้ำประปาและบริการ 9.รักษาสิ่งแวดล้อมและรักษาความสัมพันธ์อันดีต่อชุมชนโดยรอบ และ 10.ควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน

อัดงบฯเพิ่ม 6 พันล้านรับ EEC

รวมถึงมีการลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวในพื้นที่ EEC เริ่มดำเนินในปี 2561 รวม 3 โครงการ วงเงิน 6,088.417 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาผู้รับจ้างและรอทำสัญญา ได้แก่ 1.กปภ.สาขาชลบุรี-พนัสนิคม-พานทอง-ท่าบุญมี (ระยะที่ 1) อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี วงเงิน 2,889.095 ล้านบาท 2.กปภ.สาขาพนมสารคาม-บางคล้า-แปลงยาว-คลองนา-เทพราช อ.พนมสารคาม-บางคล้า-แปลงยาว-เมืองฉะเชิงเทรา-บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา วงเงิน 1,684.622 ล้านบาท 3.กปภ.สาขาบ้านฉาง อ.บ้านฉาง-เมืองระยอง-นิคมพัฒนา-ปลวกแดง จ.ระยอง วงเงิน 1,514.7 ล้านบาท

ขณะที่ปี 2563 กปภ.วางแผนขยายพื้นที่ปรับปรุงขยายการให้บริการเพิ่ม 19 โครงการ วงเงิน 9,794.868 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการปรับปรุงเพื่อรองรับ EEC จำนวน 2 โครงการ 3,200 ล้านบาท ได้แก่ โครงการชลบุรี-พนัสนิคม-พานทอง-ท่าบุญมี ระยะที่ 2 วงเงิน 1,700 ล้านบาท และโครงการพัทยา-แหลมฉบัง-ศรีราชา วงเงิน 1,500 ล้านบาท

อีกทั้งเป็นโครงการเพื่อรองรับพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม 425.251 ล้านบาท รวมถึงการปรับปรุงขยายในพื้นที่อื่น และปรับปรุงกิจการประปาภายหลังการรับโอน 6,169.617 ล้านบาท สำหรับปี 2564 มี 16 โครงการ รวมวงเงิน 8,511.395 ล้านบาท และปี 2565 วางแผนขยายพื้นที่ปรับปรุง 9 โครงการ 8,744.458 ล้านบาท

นอกจากนี้ ได้ขยายการบริการในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเพิ่มขึ้นด้วย มีโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายระบบประปาระยะ 3 ปี เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2557 และได้รับงบประมาณอุดหนุนเพิ่มของปี 2562 รวม 9 โครงการ วงเงิน 3,360.232 ล้านบาท ได้แก่ สาขาแม่สอด อ.แม่สอด-แม่ระมาด จ.ตาก

สาขามุกดาหาร จ.มุกดาหาร สาขาอรัญประเทศ จ.สระแก้ว เป็นต้น รวมถึงในเขตจังหวัดท่องเที่ยวหลัก 2 โครงการ 1,690.021 ล้านบาท คือ สาขากาญจนบุรี-ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี วงเงิน 754.593 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้างและรอทำสัญญา และสาขาพัทยา-แหลมฉบัง-ศรีราชา อ.นิคมพัฒนา-ปลวกแดง-บางละมุง-สัตหีบ-ศรีราชา จ.ชลบุรี (ระยะที่ 2) อยู่ระหว่างสำรวจออกแบบและประมาณราคา วงเงิน 935.428 ล้านบาท