ชูโปรเจ็กต์นำร่องเชื่อม CLMVT ดึงมหาดไทยขับเคลื่อนการค้าชายแดน

ความพยายามในการผลักดันโครงการนำร่อง หุ้นส่วนยุทธศาสตร์การค้าและประชารัฐเมืองคู่มิตรเพื่อธุรกิจสู่สากล (Strategic Partnership for Sister Cities) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เริ่มเห็นเป็นรูปธรรม ในการจัดสัมมนาเรื่อง “CLMVT Sister Cities : จากเมืองคู่มิตรสู่หุ้นส่วนเศรษฐกิจยุคใหม่” ขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้

“พิมพ์ชนก วอนขอพร” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะความสำคัญของกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ในฐานะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ทั้ง 4 ประเทศมียอดส่งออกจากประเทศไทยรวม 10% ของปริมาณส่งออกต่อปี หลังการจัดงาน CLMVT Forum 2018 ในเดือนสิงหาคม 2561 เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านการค้าในกลุ่มประเทศ CLMVT ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ในการจับคู่ธุรกิจเพื่อผลิตสินค้าร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการไทยและประเทศใกล้เคียง เพื่อให้มีการพัฒนาร่วมกัน เช่น ออกแบบในไทย ผลิตที่ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น โดยโครงการนี้มีลักษณะเป็นโครงการนำร่อง คือ คัดเลือกผลิตภัณฑ์ และมีการวางยุทธศาสตร์ร่วมกัน ระหว่างกลุ่มจังหวัดของไทยกับจังหวัดในประเทศเพื่อนบ้าน นำไปสู่การส่งออกในตลาดโลก

จับคู่ธุรกิจสร้างเครือข่าย

พิมพ์ชนกกล่าวต่อว่า สินค้าที่คัดเลือกมาในโครงการนำร่องนั้นอยู่ในกลุ่มเกษตรแปรรูป ได้แก่ 1.ผลไม้สองแผ่นดิน จากการจับคู่ธุรกิจกันของโรงงานและล้งในจังหวัดจันทบุรี กับเครือข่ายเกษตรกรในจังหวัดไพลิน ประเทศกัมพูชา 2.การจับคู่ระหว่างเครือข่ายประมงในจังหวัดมะริด เมียนมา สหกรณ์แปรรูปสัตว์น้ำในจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึง 3.การจัดทำสมุนไพรไฮบริดที่เกิดจากการผสานสมุนไพรไทยกับทานาคาของเมียนมา ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐฉาน เมียนมา และจังหวัดเชียงราย เป็นต้น

และ 4.การพยายามเชื่อมโยงคลัสเตอร์โคเนื้อ ระหว่างกลุ่มจังหวัดสนุก (สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร) กับแขวงสะหวันนะเขต และคำม่วน สปป.ลาว นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำดิจิทัลแพลตฟอร์มในการเชื่อมโยงความร่วมมือผู้ประกอบการไทยในจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเครือข่ายในจังหวัดมะริด เมียนมา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกลุ่ม YEC ของหอการค้าไทย ในการจัดทำแอปพลิเคชั่น Town Portal-Myeik Province ซึ่งสามารถขยายผลไปสู่ความร่วมมืออื่น ๆ ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ มหาดไทยและกระทรวงการต่างประเทศได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยสนับสนุนโครงการดังกล่าว ผ่านโครงการที่มีอยู่แล้วของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ ในเรื่องความสัมพันธ์ระดับจังหวัดระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่จัดทำโดยอาศัยกลไกระดับจังหวัดของมหาดไทย ในการทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์

ผู้ว่าฯสานสัมพันธ์จังหวัด-จังหวัด

ในขณะที่ “ชยชัย แสงอินทร์” ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีการจับมือกันในลักษณะเมืองพี่-เมืองน้อง หรือ Sister Cities ซึ่งให้หน่วยงานในประเทศไทยโดยผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดไปดำเนินความสัมพันธ์ระดับจังหวัดกับจังหวัด ขับเคลื่อนมากว่า 20 ปีแล้ว โดยมีการลงนามกับประเทศใกล้เคียงจังหวัดกับจังหวัด อยู่ราว 80 คู่ เช่น ระนอง-เกาะสอง ประจวบคีรีขันธ์-เปอลิศ เชียงใหม่-เชียงตุง มุกดาหาร-สะหวันนะเขต เพชรบูรณ์-หลวงพระบาง ในประเทศลาว จันทบุรี-ไพลิน ตราด-เกาะกง และราชบุรี-โกตากีนาบาลู

แต่การลงนามดังกล่าวมีการขับเคลื่อนต่อให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรมเพียงไม่กี่คู่ หากองค์กรเอกชนโดยเฉพาะหอการค้าในจังหวัดสามารถมีกลไกเข้าไปเป็นตัวหลักในการประสานขับเคลื่อนร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด จะทำให้เกิดประโยชน์และบรรลุเป้าหมายโครงการ Sister Cities ได้ เนื่องจากทางราชการไม่ได้มีระเบียบและบุคลากรในการขับเคลื่อนโครงการนี้มาก่อน ในอนาคตจำเป็นต้องมีหน่วยงานในพื้นที่มีหน้าที่ริเริ่มขับเคลื่อน ซึ่งแนวโน้มที่เป็นไปได้ คือจะให้โครงการนี้ถูกขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด

หอฯไทยหนุนเชื่อมเพื่อนบ้าน

“ชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์” รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า Sister Cities เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการทั้งในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ในกรณีของมะม่วงแก้วขมิ้นจากกัมพูชานั้น เนื่องจากปัจจุบันมะม่วงของประเทศไทยยังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อการแปรรูปจัดจำหน่าย เมื่อมีการเชื่อมโยงกันของสหกรณ์ไทย-กัมพูชา ทำให้ได้รับผลผลิตมาเติมเพิ่ม รวมไปถึงที่ผ่านมามีการประสานงานกันในระดับภาคเอกชนไทย-ประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้เข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานในหลายประเทศ เช่น ลาว กัมพูชา เนื่องจากเครดิตในการทำระบบผลิตภัณฑ์ได้รับการยอมรับมากกว่า


นอกจากเรื่องการค้าชายแดนแล้ว สภาหอการค้าฯเองมีโครงการทัวร์ริมโขง ในการส่งเสริมโครงการ Sister Cities เริ่มที่จังหวัดเลย จนถึงอุบลราชธานี ในลักษณะการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขง ซึ่งมองว่าในอนาคตจำเป็นต้องทำร่วมกับ สปป.ลาว ในการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่เป็นความร่วมมือและได้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งดูแลโดยสภาหอการค้าฯยังได้ไปเปิดคอร์สปริญญาโทที่ย่างกุ้ง เมียนมา ให้นักธุรกิจใหม่ชาวเมียนมาเข้ามาศึกษา รวมถึงมีนักธุรกิจไทยไปเรียน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงของเครือข่ายนักธุรกิจอีกด้วย