ตลาดพลอยมูลค่า3หมื่นล.ฟื้นตัว ส.ผู้ค้าฯชี้ต่างชาติแห่ซื้อ-ผุดรง.เมืองจันท์

สมาคมผู้ค้าอัญมณีจันท์ชี้ตลาดพลอยมูลค่า 30,000 ล้านบาท เริ่มฟื้นตัว ต่างชาติแห่ซื้อวัตถุดิบ เข้ามาตั้งโรงงานเครื่องประดับในจันท์ ขณะที่ภาครัฐออกนโยบายหนุนยกเว้นภาษีนำเข้าพลอยก้อน ดันแผน “จิวเวลรี่ฮับ” นครแห่งอัญมณีระดับโลก ด้านตลาดจีนยังคงมาแรงนิยมซื้อทับทิมและพลอยไพลิน

นายภูเก็ต คุณประภากร นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดพลอยสีหนึ่งในอัญมณีเครื่องประดับส่งออกที่สำคัญของไทย สภาพตลาดการส่งออกเริ่มขยายตัวมากกว่าปีที่ผ่านมา 7-8% ส่วนใหญ่จะเป็นการขายส่งให้กับโรงงานผลิตเครื่องประดับกว่า 70-80% ซึ่งนโยบายของภาครัฐที่ยกเว้นภาษีการนำเข้าพลอยก้อนเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ถือเป็นการลดอุปสรรคการนำเข้าจากทั้ง 2 ส่วน ทั้งผู้ประกอบการซื้อวัตถุดิบจากต่างชาติเข้ามา และชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาขายวัตถุดิบด้วยตัวเอง ทำให้แนวโน้มและทิศทางของตลาดพลอยปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ขณะที่จังหวัดจันทบุรีเริ่มเห็นโรงงานเกี่ยวกับการผลิตเครื่องประดับมาลงทุนในพื้นที่ เนื่องจากช่วงระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมามีสัญญาณการฟื้นตัวของตลาด โดยภาพรวมมีปัจจัยมาจากสภาวะเศรษฐกิจโลก และความต้องการเครื่องประดับในตลาดจีนที่สูงขึ้น ประกอบกับนโยบายทางด้านมาตรฐานของสินค้า ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GIT (องค์การมหาชน) สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันจัดทำโครงการให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมเป็นสมาชิก เพื่อผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานจนสามารถดึงลูกค้าชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศได้

นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนจากคุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่จะดันจังหวัดจันทบุรีให้เป็นจิวเวลรี่ฮับ หรือนครแห่งอัญมณีระดับโลก

ด้านการส่งออกพลอยสีไปยังตลาดหลักอย่างประเทศจีนทั้งทางตรงและทางอ้อมในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ชาวจีนนิยมพลอยสีทุกชนิด แต่ที่นิยมมากที่สุดคือพลอยทับทิมและพลอยไพลิน และหากดูปริมาณพลอยทั้ง 2 ชนิด กว่า 80% จากทั่วโลกเป็นวัตถุดิบที่ผ่านเข้ามาเจียระไนในประเทศไทยทั้งสิ้น ทุกสุดสัปดาห์พ่อค้า-แม่ค้าชาวจีนจะเข้ามาซื้อสินค้า

ส่วนการนำเข้าพลอยสีจะมาจากหลากหลายแหล่งที่มา เช่น รูบี้หรือพลอยทับทิมจะนำเข้ามาจากเมียนมาและแอฟริกา พลอยไพลินจากศรีลังกา มาดากัสการ์ แทนซาเนีย ส่วนวัตถุดิบพลอยที่จังหวัดจันทบุรีเหลือเพียงพลอยบุษราคัมที่มีแหล่งผลิตที่ ต.บางกะจะ อ.เมือง

“ในจังหวัดจันทบุรีเรามีตลาดพลอยที่ค่อนข้างเปิดกว้างสำหรับลูกค้าชาวต่างชาติ แม้ว่าเราจะขาดวัตถุดิบและต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างชาติ แต่เรามีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสร้างมูลค่าเพิ่มของพลอย โดยการเผาพลอย เราโดดเด่นเป็นอันดับ 1 ของโลก ปัจจุบันมีการนำพลอยสีไปใส่ในเครื่องประดับทั้งทองและเครื่องเงิน พลอยคุณภาพเกรดสูงจะไปอยู่ในเครื่องประดับทอง ส่วนเครื่องประดับเงินเป็นพลอยเนื้ออ่อนหรือมูลค่าลดหลั่นลงมา โดยลูกค้าส่วนใหญ่ของตลาดพลอยจันทบุรีจะเป็นลักษณะการขายส่งพลอยกึ่งวัตถุดิบให้โรงงานเครื่องประดับทั้งของไทยและต่างชาติ เพื่อนำไปประดับเรือนและขายปลีก โดยผู้ประกอบการของจังหวัดจันทบุรีเองบางรายขายวัตถุดิบพลอย และทำโรงงานเครื่องประดับเองด้วย ซึ่งดูจากแนวโน้มแล้วตลาดน่าจะดีขึ้น” นายภูเก็ตกล่าว

นางสาวณัฐชยา มณีเวศย์วโรดม เจ้าของแบรนด์เครื่องประดับ TAEVIKA จากบริษัท K&N เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมาตลาดพลอยเงียบมาก แต่ในปี 2561 เริ่มฟื้นตัวและคึกคักมากขึ้น จากอดีตที่มีลูกค้าหลักเป็นคนอินเดีย ตอนนี้เริ่มเปลี่ยนเป็นคนจีน และดูเหมือนว่าตลาดพลอยจะเริ่มขยายตัว และเติบโตมากขึ้น สังเกตได้จากมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำโรงงานเจียระไนพลอยในพื้นที่มากกว่าที่ผ่านมา บางคนหันมาซื้อพลอยเก็บไว้เป็นมรดกไว้ให้ลูกหลาน หรือกลุ่มคนที่นิยมเครื่องประดับอย่างเพชรก็หันมาสนใจพลอย เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจ

“พลอยที่ซื้อขายกันอยู่ในจันทบุรีส่วนใหญ่น่าจะเป็นพลอยที่นำเข้ามาจากแอฟริกากว่า 80% ที่เหลือจะมาจากบราซิล เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม เพราะแหล่งผลิตพลอยในเมืองจันท์แทบจะไม่เหลือแล้ว เช่น พลอยทับทิมหรือทับทิมสยามแทบจะไม่มีซื้อขายในท้องตลาด ซึ่งกลุ่มพลอยที่คนนิยมเป็นอันดับ 1 คือพลอยทับทิม ถัดมาเป็นไพลิน บุษราคัม อเมทิสต์ ลอนดอนบลู โดยสีของพลอยแม้จะเป็นชนิดเดียวกัน แต่จะแตกต่างกันตามแต่ละแหล่งที่มา ขึ้นอยู่กับความชอบของลูกค้าแต่ละคน”

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ระบุว่า พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 4 ในสัดส่วนร้อยละ 10.40 จาก 7 อันดับ ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยระยะเวลา 7 เดือนของปีนี้คิดเป็นร้อยละ 10.40 ซึ่งรวมมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทยขยายตัวร้อยละ 2.51 โดยสินค้าส่งออกหลักจะเป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.40 เนื่องจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์ปรับตัวสูงขึ้น พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เติบโตร้อยละ 8.14 จากการส่งออกไปฮ่องกงและจีน สรุปคือรวมมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่รวมทองคำเติบโต 6.92%