“ขอนแก่น” ต้นแบบคาร์บอนต่ำ อบก.ชูนโยบายสู่ความยั่งยืน

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ได้ร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. จัดทำข้อเสนอโครงการ Achieving Low Carbon Growth in Cities through Sus-tainable Urban Systems Management in Thailand Project หรือโครงการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำผ่านระบบจัดการเมืองอย่างยั่งยืน กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกได้เห็นชอบโครงการและสนับสนุนงบประมาณแบบให้เปล่ากว่า 97.65 ล้านบาท โดยให้ดำเนินการ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2564 ในระหว่างวันที่ 6-7 ก.ย. 2561 ทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกได้ร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น จัดเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เส้นทางความสำเร็จของการพัฒนาเทศบาลนครขอนแก่น โดยมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจับมือร่วมกัน และยังได้เยี่ยมชมการบำบัดน้ำเสีย และการกำจัดขยะในพื้นที่

ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เปิดเผยว่า การมุ่งสู่งเมืองคาร์บอนต่ำ หรือการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองแบบคาร์บอนต่ำ จังหวัดขอนแก่นเรียกได้ว่าเป็นเมืองต้นแบบอีกแห่งหนึ่งที่จะเป็นสมาร์ทซิตี้ในอนาคต เพราะการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำต้องควบคู่ไปกับการสร้างเมืองด้วย ขอนแก่นกำลังพัฒนาในด้านต่าง ๆ มากมาย จึงได้ถูกหยิบยกขึ้นมาในครั้งนี้

นายทัศนัย ประจวบมอญ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครขอนแก่น กล่าวว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมเทศบาลนครขอนแก่นให้ความสำคัญมาก ทั้งเรื่องขยะ น้ำเสีย และด้านต่าง ๆ มากมาย กระบวนการด้านสิ่งแวดล้อมทุกอย่างสามารถเกิดคาร์บอนได้หมด ทางเทศบาลจึงได้มีนโยบายการลดคาร์บอนมาเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเมือง ทำให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำ คนขอนแก่นหัวใจไร้มลพิษ โดยให้มีการดูแลพื้นที่สีเขียว ลดการก่อมลพิษ ลดการใช้ไฟฟ้า ประปา น้ำมัน และหันมาใช้ทรัพยากรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ทั้งนี้ นายกังวาน เหล่าวิโรจนกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด และนายธวัชชัย วนาพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการส่วนการโยธา เทศบาลขอนแก่น บอกว่า การพัฒนาขอนแก่นที่สำคัญอีกประการ คือ เรื่องการขนส่งและการแก้ปัญหาการจราจร โดยโครงการรถไฟฟ้ารางเบา LRT สายสำราญ-ท่าพระ มีระยะทางกว่า 26 กิโกเมตร และมีจำนวนสถานี 18 สถานี รวมถึงการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่น้ำ การเชื่อมต่อเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างรายได้สร้างงานให้กับภาคประชาชนได้ระดับหนึ่ง ดึงการลงทุนเข้ามาในพื้นที่

โดยนายณัฐพงศ์ โพธิวัฒนะชัย ผู้จัดการโรงงานไฟฟ้า บริษัท อัลไลแอนช์ คลีน เพาเวอร์ จำกัด (ACE) ผู้ประกอบการโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะ เปิดเผยว่า การแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าของโรงงานทำแบบระบบปิดไร้มลพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โรงงานมีพื้นที่กว่า 24 ไร่ เพื่อนำขยะจากหลุมเก็บขยะของเทศบาลนครขอนแก่นกว่า 100 ไร่ และขยะใหม่จะต้องแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าให้หมดภายใน 7 ปี ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี และสามารถกำจัดขยะได้กว่าวันละ 600 ตัน/วัน นอกจากนี้ มีแผนสร้างโรงงานและขยายกำลังการผลิตเพิ่มในขอนแก่นอีก คาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 1,400 ล้านบาท

นอกจากนี้ นายศราวุฒิ ทองเสม ผู้จัดการบำบัดน้ำทิ้ง บริษัท ขอนแก่นบริวเวอร์รี่ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท ขอนแก่นบริวเวอร์รี่ จำกัด มีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีคุณภาพสอดคล้องกับกฎสากล ซึ่งมีระบบบำบัดน้ำเสียอยู่ 2 ระบบ ทั้งแบบใช้ออกซิเจนและ

ไม่ใช้ออกซิเจน ส่วนกากอุตสาหกรรมที่เหลือจากการผลิตจะถูกแปรรูปเป็นปุ๋ยและผลิตภัณฑ์อื่นส่งให้กับชุมชน และน้ำที่ได้จากการบำบัดจะปล่อยไปใช้ในสนามกอล์ฟ สิงห์ ปาร์ค ขอนแก่น ใช้ในการบริหารจัดการสนามกอล์ฟ ส่วนกากอุตสาหกรรมที่เหลือจากผลิตเฉลี่ยแล้วสามารถสร้างรายได้กว่า 8-9 แสนบาท/ปี ถือว่าการบำบัดน้ำเสียและลดมลพิษของบริษัทได้มาตรฐานครบวงจร เป็นมิตรต่อชุมชน

นับเป็นอีกเมืองต้นแบบที่จะพัฒนาไปจนสามารถลดมลพิษด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือและร่วมแรงร่วมใจเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไป