“พร้อมเพรียงชัย” คว้าเขตศก.กาญจน์ เล็งตั้งรับนิคมอุตฯเมียนมาหมื่นไร่ห่างไทย10กม.

“พร้อมเพรียงชัยก่อสร้าง” จับมือ เค.พี.พาวเวอร์ และธุรกิจท้องถิ่น คว้างานประมูลเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ บ้านพุน้ำร้อน กาญจนบุรี 2,979 ไร่

นายปัญญา วุฒิประจักษ์ หอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 ได้มีการพิจารณาเห็นชอบให้ บริษัท พร้อมเพรียงชัยก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการจัดการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดกาญจนบุรี บริเวณบ้านพุน้ำร้อน จำนวน 2,979 ไร่ โดยโครงการดังกล่าวนี้เป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท พร้อมเพรียงชัย กับบริษัท เค.พี.พาวเวอร์ จำกัด และกลุ่มนักธุรกิจของหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกัน ตามขั้นตอนหลังจากนี้จะมีการลงนามในสัญญา และชำระเงินสำหรับสิทธิ์การเช่าที่ได้ตกลงกันไว้ แล้วจึงส่งมอบพื้นที่ คาดว่าภายในปี 2562 จะสามารถพัฒนาสาธารณูปโภค ทั้งถนน ประปา และไฟฟ้าได้เรียบร้อย และเปิดขายพื้นที่ได้

เมียนมาขึ้นนิคมหมื่นไร่ ชายแดน

“ขณะที่ฝั่งกาญจนบุรีของไทยจะขึ้นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทราบมาว่าทางสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือกะเหรี่ยง KNU ได้ร่วมกับรัฐบาลเมียนมา เตรียมขึ้นเมืองนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน ตั้งอยู่ห่างจากชายแดนประเทศไทยไปราว 10 กม. มีการจัดตั้งบริษัทบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษในฝั่งเมียนมา ชื่อ Mae Tha Mee Khee Industrial ทำหน้าที่บริหารพื้นที่ 6,000 เอเคอร์ หรือราว 15,000 ไร่ แบ่งเป็น อุตสาหกรรมสีเขียว 4,215 เอเคอร์ (10,600 ไร่) ด่านศุลกากร และโกดังสินค้า 517 เอเคอร์ (1,300 ไร่) และเมืองที่อยู่อาศัย (industrial housing zone) สำหรับอุตสาหกรรมอีก 1,944 เอเคอร์ (4,900 ไร่)

ปัจจุบันเตรียมก่อสร้างโซนที่อยู่อาศัยจากชายแดนไทยเข้าไป และมีการอพยพชาว KNU เข้ามาทำตลาดชายแดนในบริเวณดังกล่าวด้วย จากเอกสารเผยแพร่ของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษในฝั่งเมียนมา พบว่ามีแผนการเชื่อมเมียนมา-ไทย-กัมพูชา-สปป.ลาว และจีน รวมถึงส่งต่อการเชื่อมโยงสินค้าไปสู่ทวายด้วย ดังนั้น ในส่วนจังหวัดกาญจนบุรีได้มีการเร่งรัดหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับงบประมาณแล้วเร่งทำงาน รวมถึงการเร่งก่อสร้างอาคารของส่วนราชการที่จำเป็นต้องย้ายสำนักงานเข้ามาทำงานในพื้นที่ เพื่อรองรับกับนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวในฝั่งเมียนมาด้วย” นายปัญญากล่าว


ตั้งฟรีเทรดโซนนำเข้า-ส่งออก

ปัจจุบันมีผู้สนใจในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอยู่ประมาณ 200 ไร่ โดยอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น บริษัท ผลิตวูดพาลเลต รวมไปถึงบริษัท พร้อมเพรียงชัย จำกัด เจ้าของสัมปทานเอง จะจัดทำเขตประกอบการเสรี (free trade zone) ประมาณ 150-200 ไร่ เพื่อรองรับนักธุรกิจที่ต้องการจะนำสินค้าเข้ามาในฟรีเทรดโซน เพื่อส่งออกไปประเทศที่ 3 ทั้งจากเมียนมานำเข้ามาไทย และไทยส่งออกไปเมียนมา เพื่อส่งต่อไปยังประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีอีก 100 ไร่ ที่แบ่งเป็นส่วนพาณิชยกรรม เช่น ห้องเย็น เป็นต้น

ส่วนความคืบหน้าในการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกนั้น อาคารศุลกากรแห่งใหม่มีความคืบหน้าไปมาก รวมถึงถนนหนทางในส่วนศุลกากรบนพื้นที่ 1,000 ไร่ แล้วเสร็จกว่า 70% ในส่วนตลาดชายแดนแล้วเสร็จ 30% โดยยังขาดในส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากถนนที่จะเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่เป็นทางหลัก ทางโยธาได้ตั้งงบประมาณแล้วประมาณ 60 ล้านบาท โดยภาคเอกชนก็ได้เรียกร้องให้เป็นงบฯเร่งด่วน เพื่อให้รองรับกับเขตเศรษฐกิจพิเศษได้

ขีดวงแผนแม่บท 31 โซนธุรกิจ

ในส่วนสาธารณูปโภคพื้นฐานมี 3 หน่วยงาน เข้ามาดำเนินการ 1.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้มีการวางเสาเพื่อส่งไฟ และอนุมัติปล่อยไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 75 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกัน เตรียมจัดสร้างสถานีส่งไฟฟ้าแล้ว 2.กรมชลประทาน ได้มีการจัดทำห้วยลำทราย สามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุด 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างไปได้ประมาณ 70% และ 3.การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้งบประมาณ 288 ล้านบาท ในการวางท่อส่งน้ำจากแม่น้ำแควน้อยเชื่อมลงมาระยะทาง 30 กม. ตอนนี้กำลังเตรียมการก่อสร้าง รวมถึงมีพื้นที่อีก 100 ไร่ ที่จะให้ SMEs เข้ามาเช่าในลักษณะ factory outlet และจะมีพื้นที่สำหรับร้านค้า SMEs และโอท็อป มาวางขายสินค้า และจะมีพื้นที่อีกจำนวนหนึ่งเป็นพื้นที่พักของคนที่เข้ามาทำงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอีกด้วย

นายปัญญากล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาได้มีการจัดทำแผนแม่บทสำหรับแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี จำนวน 2,979 ไร่ ออกเป็น 31 ส่วน ประกอบด้วย 1.ไฟฟ้า-ประปา 17 ไร่ 2.อาคารพาณิชย์ 131 ไร่ 3.one stop service 24 ไร่ 4.พื้นที่สีเขียว 107 ไร่

5.ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อาคารชุด ห้องเช่า 107 ไร่ 6.โรงแรม 141 ไร่ 7.โรงแรม 38 ไร่ 8.ผลิตยาและสมุนไพร รวมถึงการปลูกพืชสมุนไพร 51 ไร่ 9.โลจิสติกส์ 147 ไร่ 10.อุตสาหกรรมสิ่งทอ 96 ไร่

11.ศูนย์ความงาม เครื่องประดับ 73 ไร่ 12.ลานกีฬา 43 ไร่ 13.อิเล็กทรอนิกส์ 42 ไร่ 14.อุปกรณ์ไฟฟ้า 84 ไร่ 15.ศูนย์กระจายสินค้า 157 ไร่ 16.อุตสาหกรรมพลาสติก 94 ไร่ 17.อุตสาหกรรมกระดาษ 79 ไร่ 18.อ่างเก็บน้ำ ที่จอดรถ สนามหญ้า 84 ไร่ 19.โรงงานผลิตเนื้อสัตว์ 83 ไร่ 20.อุตสาหกรรมแร่ 101 ไร่

21.ยานยนต์ จักรกล ชิ้นส่วนอุปกรณ์ 79 ไร่ 22.ปุ๋ย อาหารสัตว์ 23 ไร่ 23.โรงผลิตน้ำ โรงผลิตน้ำแข็ง 41 ไร่ 24.ศูนย์ห้องเย็น 83 ไร่ 25.วัสดุก่อสร้าง 139 ไร่ 26.คลังน้ำมัน 99 ไร่ 27.คลังก๊าซ และโรงบรรจุก๊าซ 85.27 ไร่ 28.บ่อบำบัด 53 ไร่ 29.ลานขยะ 33 ไร่ 30.อุตสาหกรรมการประมง 126 ไร่ 31.เฟอร์นิเจอร์ 185 ไร่

ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรีปัจจุบันยังมีปัญหาในส่วนของการเวนคืน เนื่องจากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ราว 3-4 บางรายยังไม่ยอมออกจากพื้นที่ โดยทางจังหวัดจะเข้าเจรจาข้อตกลงอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการวางข้อตกลงโดยหน่วยงานราชการ และพบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบ และยินดีย้ายออกในอัตราค่าเวนคืนพื้นที่ในราคา 24,000 บาท/ไร่สำหรับที่ดิน และมีชดเชยเพิ่มเติมให้ในส่วนต้นไม้และบ้านพัก