เกษตรกรพัทลุงฮิตปลูกสละ ปรับตัวราคายางตกต่ำ

เกษตรกรพัทลุงเร่งปรับตัว ปลูกสละ-แปรรูป หารายได้ชดเชยราคายางพาราตกต่ำ นักวิชาการการเกษตรชี้เกษตรควรปรับคุณภาพเพื่อตอบโจทย์ตลาด

นายกอนี วิจารณ์ เจ้าของสวนสละ บ้านทุ่งเหรียง หมู่ 2 ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ปลูกสละมาร่วม 6 ปี โดยสละแต่ละกอได้ขยายตัวออกไปเป็นประมาณ 1,000 ต้นในปัจจุบัน จากพื้นที่จำนวน 3 ไร่

นายกอนี กล่าวอีกว่า ได้ปลูกสละสายพันธุ์อินโดนีเซีย 200 ต้น ขณะนี้มีราคาอยู่ที่ประมาณ 100 บาท/กก. สายพันธุ์เนินวงศ์ 800 ต้นราคา 50 บาท/กก. และสายพันธุ์สุมาลีราคา 70 บาท/กก. โดยในด้านการขาย จะมีพ่อค้า แม่ค้า มารับซื้อถึงหน้าสวน นอกนั้นขายปลีกในพื้นที่

ปัจจุบันเกษตรกรหลายรายใน จ.พัทลุงได้โค่นยางพาราและหันมาปลูกสละกันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่ ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด ปลูกแล้วกว่า 200 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์สุมาลี และยังไม่ให้ผลผลิต

“ขณะนี้ในกลุ่มเกษตรกรสละ กำลังหารือพูดคุยกันถึงจะต้องมีการแปรรูปสละเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ เพื่อรองรับการตลาด เพราะมีเกษตรกรหันมาปลูกสละกันมากขึ้น” นายกอนีกล่าว

นายไพรวัลย์ ชูใหม่ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ชำนาญการ สำนักงานเกษตร จ.พัทลุง เปิดเผยว่า จ.พัทลุง เป็นแหล่งปลูกสะละรายใหญ่ทางภาคใต้ ประมาณขณะนี้หลักหมื่นไร่ และ จ.พัทลุง มีพื้นที่เหมาะสม ยกเว้นบางพื้นที่เขต 5 อำเภอติดกับทะเลสาบสงขลา

โดยปัจจุบันสละปลูกมาก ที่ อ.ป่าบอน และ อ.ศรีบรรพต และขณะนี้ปลูกทุกอำเภอ สะละมีผลผลิตยังไม่พอกับความต้องของตลาด และตลาดที่สำคัญ จ.ภูเก็ต จ.สตูล และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

นายไพรวัลย์ อธิบายว่าส่วนตัวเลขเงินหมุนสะพัด ไม่สามารถรวบรวมได้เพราะราคาหน้าสวนกับราคาหน้าแผงต่างกัน โดยหน้าแผงมีราคาตั้งแต่ 100 -120 บาท/กก. แต่หน้าสวนราคา 50–80 บาท/กก. เมื่อประมาณการโดยเฉลี่ยพบว่าสละจะสร้างรายได้ 6,000 บาท/ต้น/ปี โดยสละ 1 กอ จะมีประมาณ 3 ต้น และหากเทียบแล้ว สะละ 1 กอ จะให้ผลตอบแทนเท่ากับยางพารา 1 ไร่


“สละลงทุนมากช่วงแรก จากค่าต้นพันธุ์ ค่าระบบน้ำ นอกจากนี้ประการสำคัญคือต้องพัฒนาคุณภาพ เพราะบางส่วนยังไม่ได้ขนาดที่ตลาดต้องการอยู่ โดยสละ จ.พัทลุง ได้มีการพัฒนาแปรรูปหลายผลิตภัณฑ์ มีตั้งแต่ น้ำสละ สละลอยแก้ว สละผง สละแยม ฯลฯ