จีนรุกหนักนโยบาย Belt & Road ภาคเหนือดันเชื่อมการค้า-การลงทุนลุ่มน้ำโขง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า วันนี้ (19 กันยายน 2561) ประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และสถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ International Conference Belt and Road Initiative Lancang- Mekong Cooperation : New Era and New Start ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่

นายเหริน ยี่เซิง กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำเชียงใหม่ กล่าวว่า นโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทางของจีน จะส่งผลประโยชน์เชิงบวกกับไทย ซึ่งไทยเป็นจุดสำคัญในการเชื่อมโยงกับประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยภาคเหนือมีศักยภาพสูงที่นักลงทุนจีนกำลังให้ความสนใจเข้ามาลงทุน สำหรับเวทีการประชุมครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนและความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทั้งนี้มีตัวแทนจากหน่วยงานรัฐบาลจีน รัฐบาลไทย องค์กรระหว่างประเทศผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ สื่อมวลชน และแวดวงอื่นๆ ประมาณ 500 คน ได้เสนอแนวคิดใหม่ในการส่งเสริมนโยบาย Belt & Road (B&R) และ Lancang-Mekong Cooperation (LMC) โดยต้องยึดมั่นในจิตวิญญาณของเส้นทางสายไหมด้วยการร่วมมือกันอย่างสันติ การเปิดกว้างและความอดทนในการเรียนรู้ร่วมกัน และแสวงผลประโยชน์ร่วมกัน

ทั้งนี้ ลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งรวมถึงไทยและจีน มีข้อได้เปรียบในแง่ของการพัฒนาอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานและความทันสมัยทางการเกษตร ทั้งสองฝ่ายเป็นหุ้นส่วนทางธรรมชาติ ผู้เข้าร่วมจากจีนและไทยทุกคนหวังว่าจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการก่อสร้าง B&R ด้วยกลยุทธ์การพัฒนาประเทศไทย 4.0 และ Eastern Economic Corridor (EEC) ที่มุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจและการค้า e-commerce, การเกษตร, การศึกษา, การท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งเราควรส่งเสริมความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างสองประเทศในสาขาต่างๆ เพื่อขยายไปสู่ระดับที่กว้างขึ้นในวงกว้างและระดับลึก นอกจากนี้ในระหว่างการประชุมวิสาหกิจและสถาบันต่างๆ ในจีนและประเทศไทยยังมีข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือในอนาคต

รศ.โรม จิรานุกรม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความริเริ่มและร่วมมือของหน่วยงานของไทยกับจีน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และสถาน กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจัดให้มีกิจกรรมหรือเวทีทางวิชาการในระดับภูมิภาค ที่เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ และบุคลากรทั้งจากภาครัฐและเอกชนของไทย จีน และนานาชาติ มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์ ตลอดจนเป็นเวทีส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ด้านสังคมศาสตร์และวัฒนธรรมระหว่างจีนกับ ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะการขยายบทบาทการพัฒนาความเจริญตามยุทธศาสตร์ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt & Road Initiative) เพื่อสร้างเส้นทางสายไหมทางบกและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 เชื่อมโยงกับภูมิภาคต่างๆ เข้าด้วยกัน

โดยเน้น 4 ประเทศหลัก คือ ลาว ไทย เมียนมา และจีน ตามความร่วมมือด้านการคมนาคมเกษตรกรรม การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และการแพทย์แผนจีน ศึกษาความสัมพันธ์และผลกระทบเชิงลึกของความสัมพันธ์ข้ามพรมแดนระหว่างจีนกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region : GMS) รวมถึงในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาถึงพลวัต ผลลัพธ์ และการคาดการณ์ต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในมิติด้านต่างๆ ภายใต้การดำเนินโครงการ “Belt and Road Initiative” ของจีน จากการมาเยือนอาเซียนของประธานาธิบดีสีจินผิง ในปี 2013 และได้มีการนำเสนอยุทธศาสตร์ใหม่ของจีน Belt & Road Initiative อันเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ของจีนต่อการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์ในเชิงสังคมวัฒนธรรมระหว่างจีนกับนานาชาติ

ทั้งนี้ อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ถือว่าเป็นภูมิภาคที่มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นและใกล้ชิดกับประเทศจีนมาเป็นเวลายาวนานทั้ง ในเชิงวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และเศรษฐกิจการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของจีน คือ มณฑลยูนนาน และเขตปกครองตนเองกวางสี-จ้วง ก็เป็นส่วนหนึ่งของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงด้วย

สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ จึงเป็นก้าวสำคัญสำหรับทั้งสองประเทศ ที่ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันพิจารณา ศึกษาข้อมูล ผ่านการนำเสนอผลงานวิจัย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นสำคัญที่ครอบคลุมมิติของการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศจีน กับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการคมนาคมและการขนส่ง 2.ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการ ลงทุน 3.ด้านการท่องเที่ยว 4.ด้านวัฒนธรรมและมรดกทางวัฒนธรรม และ 5.ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและเมืองอัจฉริยะ อันจะนำไปสู่การส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือในอนาคต