ยางราคาดิ่งหนัก “โรงรมใต้” เล็งหยุดผลิต

ราคาดิ่ง - สถานการณ์ราคายางพาราปีนี้ยังตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โรงรมยางเตรียมจับมือกันหยุดผลิต แล้วหันมาผลิตน้ำยางสดเข้าโรงงานอุตสาหกรรมแทน

ยางราคาตกพ่นพิษต่อเนื่อง วิสาหกิจชุมชนยางเจอทางตัน ขาดทุน-ติดหนี้สะสม เตรียมจับมืองดผลิตยางรมควัน เร่งเคลียร์ปัญหาค้างเงินค่าแรงงาน เกษตรกรหวั่นปัญหาต่อเนื่อง น้ำยางสดล้นตลาดช่วงปลายปีนี้ ราคาตกซ้ำ

นายชำนาญ เมฆตรง ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) และประธานชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์ยางรมควันที่ปรับราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถาบันเกษตรกรยางประสบภาวะขาดทุนตั้งแต่ 800,000-900,000 บาท บางแห่งสะสม 2-3 ล้านบาท ทางออกระยะสั้น คือ สถาบันเกษตรกรที่ทำโรงรมยางรมควัน ต้องจับมือกันหยุดผลิต แล้วหันมาผลิตน้ำยางสดส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรมน้ำยางข้นแทน เพื่อให้ลูกจ้างทำยางรมควันคงอยู่ได้ และยางรมควันจะไม่หายไปจากตลาด ซึ่งจะส่งผลต่อราคายางจะขยับขึ้นตามกลไกการตลาด แต่ปัญหาสืบเนื่อง คือ น้ำยางสดจะเข้าสู่ตลาดน้ำยางข้นในปริมาณมากขึ้น ทำให้น้ำยางสดราคาตกต่ำลง

นายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย สมาคมคนกรีดยางฯเปิดเผยว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 หากสถานการณ์ราคายางยังเป็นเช่นนี้ อาจจะต้องยุติโรงรมยางเกือบ 100% เพราะจะแบกภาระขาดทุนสะสมไม่ไหวโดยโรงรมจะหันไปผลิตและขายน้ำยางสดให้กับโรงงานน้ำยางข้น ซึ่งเป็นบริษัทของเอกชนทั้งหมด เนื่องจากสถาบันเกษตรกรไม่มีโรงน้ำยางข้น เพราะต้องลงทุนขั้นต่ำประมาณ 20 ล้านบาท/โรง

“ในเดือนธันวาคม-มกราคมของทุกปี น้ำยางสดจะออกเต็มที่ อาจจำเป็นต้องจำหน่ายเข้าสู่โรงน้ำยางข้น มีแนวโน้มว่าปริมาณที่มากขึ้นอาจทำให้น้ำยางสดราคาตกต่ำ จนน่าวิตกว่าอาจตกต่ำถึงในราคา 4 กก./100 บาท” นายเรืองยศกล่าว

นายเรืองยศกล่าวเพิ่มเติมว่า ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมาคมคนกรีดยางฯกว่า 250 กลุ่ม ขาดทุนรวมแล้วกว่า 200 ล้านบาท และเป็นหนี้สถาบันการเงินประมาณ 500 ล้านบาท นอกนั้นยังมีอีกหลายปัจจัยที่ประสบภาวะขาดทุน เนื่องจากราคายางรมควันผันผวนไม่นิ่ง ทำให้กลุ่มสหกรณ์ยาง กลุ่มวิสาหกิจยาง กลุ่มยาง เฉพาะในกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทยอยยุติทำยางรมควันแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ยังไม่ยุติทำยางรมควันกำลังจัดการปัญหาแรงงานที่ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับแรงงานกัมพูชา และ สปป.ลาว เพราะมีการติดค้างเงินรายละประมาณ 20,000 บาท


นอกจากนี้ สถาบันเกษตรกรผู้ปลูกยางยังประสบกับปัญหาหนี้สินจากสินเชื่อเงินกู้โครงการของรัฐบาล ทั้งโครงการ 10,000 ล้านบาท และ 5,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประมาณ 2 ล้านบาท/โรง จนส่งผลกระทบต่อสมาชิก และผู้ถือหุ้น ทั้งเงินปันผล หุ้นติดลบเป็นศูนย์ แถมยังมีหนี้สิน โดยขณะนี้โฉนดที่ดินของกลุ่มสหกรณ์ยาง กลุ่มวิสาหกิจยาง กลุ่มยาง ต่างอยู่ในธนาคารเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน