นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้ว่าการ กปภ. คนใหม่ ชงยุทธศาสตร์รับเมืองขยายตัว

สัมภาษณ์

ก้าวเข้าสู่การทำงานเดือนที่ 2 สำหรับ “นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย” ผู้ว่าการคนที่ 14 ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ถึงความพร้อมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ทิศทาง และนโยบายการเป็นผู้ให้บริการน้ำประปา ที่ กปภ.ตั้งเป้าจะพัฒนาองค์กรไปสู่ระดับสากล สามารถให้บริการน้ำประปาที่มีคุณภาพได้ทั่วถึงทั้งประเทศ

“นพรัตน์” บอกว่า การจะก้าวไปสู่ความเป็นสากลของการให้บริการน้ำประปานั้น 1.ต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพ 2.การจะเป็นองค์กรที่เป็นสากลต้องพัฒนาการตลาด สร้างความรู้ความเข้าใจในบทบาทของ กปภ.ต่อสาธารณชน และ 3.ขยายกิจการสร้างสาขาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมไปถึงจัดระบบกำไร-ขาดทุนให้สมดุลกัน ซึ่ง กปภ.ให้บริการครอบคลุมทุกจังหวัด ยกเว้น กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ หากแต่การลงทุนส่วนใหญ่มักกระจุกตัวอยู่เฉพาะตัวเมืองของแต่ละจังหวัดเท่านั้น ส่วนพื้นที่อื่นต้องดูว่าคุ้มค่าต่อการเดินท่อที่ค่อนข้างมีค่าใช้จ่ายสูงหรือไม่

การพัฒนาองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัล 4.0 มีอยู่ 3 ส่วน คือ 1.การให้บริการประชาชน ทั้งใบแจ้งค่าบริการและการจ่ายน้ำสามารถทำได้ในระบบดิจิทัล 2.แหล่งผลิตและแจกจ่ายน้ำจะมีเซ็นเซอร์ควบคุมมาอยู่ที่ศูนย์กลาง เพื่อให้ควบคุมการจ่ายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3.เรื่องของพฤติกรรมผู้ใช้ ทาง กปภ.สามารถนำมาพยากรณ์ในเรื่องของการตลาดได้ สรุปคือการให้บริการสามารถเชื่อมโยงทั้งหมดเข้าด้วยกันด้วยระบบดิจิทัล เช่น การแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์สามารถควบคุมได้ในระยะไกล

“ปัจจุบันสำนักงานมีอยู่ 234 แห่งทั่วประเทศ มีแหล่งผลิตและแหล่งจ่ายน้ำประมาณ 500 กว่าแห่ง ส่วนการผลิตเพื่อรองรับการขยายตัวของประชาชนนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี 5-10% โดยในปี 2561

มีการพัฒนาค่อนข้างมาก โครงการที่โดดเด่นและสำคัญที่ทำเสร็จแล้ว คือ โครงการทำท่อน้ำประปาลอดทะเลไปยังเกาะสมุย ปลายปีนี้จะสามารถส่งน้ำจากสุราษฎร์ธานีบริเวณขนอมไปถึงเกาะสมุยได้ โดยมีปริมาณน้ำ 1,000 ลบ.ม./ชม. สามารถให้บริการคนที่เกาะสมุยได้ 1 แสนคน โดยระยะที่ 1 อยู่ระหว่างการทดสอบ เป็นการเดินท่อในทะเล 20 กม. แต่จากแหล่งผลิตน้ำถึงเกาะสมุยอยู่ที่ 110 กม. โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 งบประมาณกว่า 2,200 ล้านบาท และระยะที่ 2 อีก 2-3 ปี จะสามารถให้บริการน้ำได้ถึง 2 แสนคน”

นอกจากนี้ มีนโยบายการขยายการให้บริการเกี่ยวกับโครงการสำคัญจะเกิดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่อีอีซีที่ต้องใช้เวลาดำเนินการหลายปี และมีโครงการในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ได้แก่ สะเดา สระแก้ว แม่สอด มุกดาหาร ที่ กปภ.เข้าไปทำระบบผลิต ระบบแจกจ่าย และต่อท่อไปให้ถึงผู้ใช้น้ำ โดยเพิ่มกำลังผลิตทุกโครงการ เพราะพื้นที่ชายแดนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก ส่วนโครงการเร่งด่วนคือการให้บริการในพื้นที่เมืองท่องเที่ยว เช่น กระบี่ ภูเก็ต เพราะปัจจุบันเริ่มขาดน้ำ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้น

“นพรัตน์” ชี้ให้เห็นว่า เมืองท่องเที่ยว 3 เมืองแรกที่ กปภ.เล็งเห็นศักยภาพ คือ ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ถัดมาคือ นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ ขอนแก่น ซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญที่ กปภ.จะขยายไปตามการลงทุนของโรงแรมและรีสอร์ต คือ ชายทะเลภาคตะวันออก อันดามัน ประจวบคีรีขันธ์ หัวหิน จนถึงชะอำ เรียกได้ว่าหากมีโรงแรมเกิดขึ้น การให้บริการน้ำประปาของ กปภ.ต้องทั่วถึงและเพียงพอ จุดไหนมีโอกาสที่คนจะหนาแน่นในอนาคต จะเป็นเป้าหมายหลักของ กปภ.ที่จะขยายกำลังการผลิตให้เพิ่มขึ้นได้อย่างทันท่วงที

เพราะปกติกำลังผลิตจะต้องสูงกว่าการใช้น้ำอยู่ที่ 10-20% ฉะนั้น เมื่อมีการใช้น้ำเพิ่มขึ้น ต้องขยายเพิ่มขึ้นตาม การลงทุนในกรณีที่เงินทุนไม่เพียงพอ อาจจะต้องร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งกรณีนี้มีอยู่น้อยมาก เพราะภาครัฐค่อนข้างให้ความสำคัญ บางโครงการให้เงินสนับสนุนถึง 75% อีก 25% จะเป็นส่วนที่ กปภ.ลงทุนด้วยตัวเอง

“หน้าที่ของ กปภ. คือ การจัดสรรน้ำสะอาดให้กับประชาชน ตอนนี้แบ่งการให้บริการพื้นที่ออกเป็น 5 ภาค 10 เขตให้บริการ โดยมี 25 ลุ่มน้ำเป็นแหล่งผลิตน้ำที่สำคัญทั่วประเทศ เราอยากบอกประชาชนว่า น้ำเรามีคุณภาพตามหลักสากล รวมถึงราคาเราเทียบจากต้นทุน ซึ่งคุณภาพของน้ำสามารถใช้ได้อย่างครบถ้วน ทั้งอาบน้ำและกิน เราอยากให้ประชาชนเชื่อมั่นในบทบาทของเรา ซึ่งเรายังขาดเรื่องการประชาสัมพันธ์อยู่มาก ส่วนเรื่องรายได้น้อยมาก แต่ตอบได้ว่าอยากเข้าถึงคนใช้น้ำให้ได้เพิ่มขึ้นปีละ 5% หรือประมาณปีละ 2 แสนราย”