กูรูเตือนมหันตภัยโรคระบาดหมู ASF จี้รัฐออก ม.44 ก่อนหายนะ! หลายแสนล้าน

แฟ้มภาพ

กูรูด้านโรคหมูจี้รัฐบาล คสช.ประกาศมาตรา 44 กำกับ-คุมเข้มป้องกัน-รับมือ “มหันตภัยไวรัสอหิวาต์แอฟริกันในหมู” ชี้หากระบาดเข้าไทย ลำพังกรมปศุสัตว์เอาไม่อยู่ ทำอุตสาหกรรมหมูไทยต้นน้ำยันปลายน้ำหลายแสนล้านบาทล่มสลายแน่ พร้อมเร่งเตรียมจัดงบฯฉุกเฉินไว้จ่ายค่าชดเชยกรณีหมูตายขั้นต่ำ 10,000 ล้านบาท หวั่นซ้ำบทเรียนไข้หวัดนกแอบลักลอบขนย้าย ทำโรคแพร่ระบาดทั่วไทย

การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF) ที่กำลังกระจายเกือบจะทั่วยุโรปตะวันตก ยุโรปตะวันออก จีน และรัสเซียภายในเวลาไม่กี่วัน ได้สร้างความตื่นตระหนกให้ผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของไทยมิใช่น้อย เนื่องจากเป็นโรคที่มีความรุนแรงมากในหมู

แม้ไม่ได้เป็นโรคที่ติดต่อสู่คนได้ และยังไม่ระบาดมาถึงไทย แต่ทุกคนในวงการฟันธงเป็นเสียงเดียวกันว่า โรคแพร่ระบาดมาถึงไทยแน่ แต่จะช้าหรือเร็ว ! และหากพบการระบาดในฟาร์มหมูไม่รอดจากเชื้อโรคแน่นอน นั่นหมายถึงความหายนะทั้งห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

ศ.นสพ.ดร.อรรณพ คุณาวงษ์กฤต อดีตคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุกร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การระบาดของโรค ASF ในสุกรแม้จะยังมาไม่ถึงประเทศไทย แต่ทั้ง 3 ฝ่ายทั้งผู้เลี้ยงหรือภาคเอกชน สมาคมหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง และสุดท้ายรัฐบาล ควรเตรียมความพร้อมในการป้องกันอย่างเข้มแข็งกว่าปัจจุบัน และเตรียมการรับมือกรณีการแพร่ระบาดของโรค ดังนั้น รัฐบาลต้องใช้อำนาจพิเศษด้วยความเข้าใจในปัญหา ถ้ารัฐบาลไม่เข้าใจในปัญหาไม่มีทางแก้ปัญหาได้ ความหายนะหลายแสนล้านบาทจะเกิดขึ้น

โดยเฉพาะในการเข้าไปกำกับ ควบคุม ทำลาย อำนวยความสะดวก ทุกกรณี รวมถึงการลงโทษอย่างรุนแรง ถ้าไม่แจ้งหรือลักลอบเคลื่อนย้าย ต้องประกาศใช้มาตรา 44 กำหนดกฎระเบียบขึ้นมาใหม่ในการควบคุม เพราะเหตุการณ์ตรงนี้ไม่สามารถใช้ระเบียบวิธีปฏิบัติปกติที่กรมปศุสัตว์ดำเนินการในปัจจุบันได้ ที่สำคัญรัฐบาลต้องเตรียมจัดสรรงบประมาณฉุกเฉินขึ้นมาไว้จ่ายค่าชดเชยให้ผู้เลี้ยงกรณีหมูตายจากโรคระบาดประเมินเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรเดือดร้อนน้อยที่สุด หมูขุนตลาดตอนนี้ขาย 5,000-6,000 บาท หมูพันธุ์ตัวละ 10,000 บาท

นอกจากนี้ ต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาประสานความร่วมมือกับทุกส่วนราชการทหาร ตำรวจ กระทรวงมหาดไทยให้เข้ามาช่วยสนธิกำลังกับกรมปศุสัตว์ มีมาตรการสนับสนุนคนเลี้ยงอย่างเข้มแข็งไม่ให้เดือดร้อน เช่น มีรถแมโครเข้าไปช่วย เพื่อให้เดือดร้อนน้อยที่สุด รวมถึงการส่งความช่วยเหลือยังประเทศรอบบ้าน เพื่อวางแนวป้องกันก่อนระบาดมายังประเทศไทย

โรค ASF ไม่ติดต่อสู่คน แต่หมูจะป่วย และตายเยอะมาก 30-70% เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษา และยังคิดค้นวัคซีนไม่สำเร็จ เป็นดีเอ็นเอไวรัส เป็นไวรัสตัวใหญ่ เทียบกับไวรัสปกติทั่วไป การกลายพันธุ์ช้า ถ้าเข้าฟาร์มใดแล้วต้องกำจัด 100% เพราะหมูที่ไม่ตายจะมีเชื้ออยู่ในตัว และเป็นตัวแพร่เชื้อต่อไปเหมือนหมูป่า ถ้าตรวจพบฟาร์มใดหลักการกำจัดต้องทำลาย 100% พร้อมขีดวงกำจัดรัศมี 3 กิโลเมตร หมูต้องถูกฆ่าทั้งหมด และในระยะ 10 กิโลเมตรห้ามเคลื่อนย้าย ถามว่า หากระบาดเข้ามาในไทย อุตสาหกรรมสุกรหลายแสนล้านบาทจะถึงคราวล่มสลายหรือไม่ ล่มแน่ ถ้าหาก 2 เมืองหลักในการเลี้ยงสุกร คือ ราชบุรีและนครปฐมมีโรค ASF เข้าไป

เพราะผมถามผู้เลี้ยงไทยมา 100 คน ถ้าพบมีโรคเข้าฟาร์มจะแจ้งหรือไม่ ปรากฏว่า ทั้ง 100 คนบอกไม่แจ้ง เพราะถ้าแจ้งทางการจะเข้ามาทำลายทั้งหมด ตอนนี้ราคาตลาดหมูขุนขาย 5,000-6,000 บาท/ตัว หมูพันธุ์ตัวละ 10,000 บาท/ตัว

เหมือนบทเรียนเมื่อครั้งเกิดการระบาดของไข้หวัดนก พบฟาร์มที่ไม่มีระบบป้องกันที่ดี ที่สำคัญมีการลักลอบขนซากสัตว์กันตอนกลางคืนนำไปเข้าโรงฆ่าที่ไม่ได้สุขอนามัย ดังนั้น รัฐบาลต้องเตรียมเงินชดเชยไว้ เพื่อจูงใจให้คนมาแจ้งเช่นเดียวกับประเทศจีนมีการชดเชยให้คนเลี้ยงเฉลี่ยตัวละ 800 หยวนต่อตัว หรือประมาณ 4,000 บาท พอระยะหลังเริ่มการระบาดมากขึ้นได้เพิ่มเงินชดเชยให้เป็น 1,200 หยวนต่อตัว คนจีนที่ไม่แจ้งติดคุก คนที่เคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยติดคุก 2-3 กระทง

นี่คือการถอดบทเรียนจากไข้หวัดนกมาถึงวันนี้ รัฐบาลควรจะทำอะไร คนที่มีอำนาจในมือคือกรมปศุสัตว์ แต่อำนาจนั้นจะใช้ไม่ได้ ถ้าไม่มีการสนับสนุนจากรัฐบาล รัฐบาลต้องไม่โดดเดี่ยวกรมปศุสัตว์ ศักยภาพของกรมปศุสัตว์ที่มีไม่สามารถทำอะไรได้เลย ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ และกำลังต้องสนธิ เวลาเกิดปัญหา คนที่เป็นผู้สั่งการคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด กระทรวงมหาดไทยต้องลงมาช่วยกัน ต้องประกาศหลักเกณฑ์ออกมา การทำสงครามกับโรคระบาด ยิ่งกว่ากฎอัยการศึก ไม่อย่างนั้นวาดภาพหายนะของอุตสาหกรรมไว้ได้เลย หลายแสนล้านบาท

เพราะจะกระทบทั้งห่วงโซ่ตั้งแต่คนเลี้ยงหมู เจ้าของฟาร์ม บริษัทอาหารสัตว์ เกษตรกรที่ขายวัตถุดิบอาหารสัตว์ ข้าวโพด ถั่ว รำข้าว ปลายข้าว บริษัทขายยาและเวชภัณฑ์ และโรงงานอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูปส่งออก” ศ.นสพ.ดร.อรรณพกล่าวและว่า อยากฝากถึงเกษตรกร เอกชนคนเลี้ยงหมูต้องป้องกันตัวด้วยตัวเอง คือ ทำระบบไบโอซีเคียวริตี้ มาตรฐานฟาร์ม เร่งขึ้นทะเบียนฟาร์ม และถึงเวลาแล้วหรือยังต้องพิจารณาคือ เรื่องการรายงานจำนวนสัตว์ รายงานโรค ไม่เคลื่อนย้ายสัตว์ป่วย ไม่ขายซากสัตว์ ถ้าตรงนี้ทำได้สามารถควบคุมโรคได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจีนมีวิธีการควบคุมกำจัดโรค 4 คำนี้ดีมาก early หมายถึง เริ่มต้นตั้งแต่ตรวจพบ วิเคราะห์โรคให้เร็ว มีการรายงานโรคให้เร็ว fast บริการจัดการให้เร็ว strict เข้มงวดกับการกำจัดโรค และ small ขีดวงจำกัดให้โรคอยู่ในพื้นที่แคบ ๆ

หรือตัวอย่างที่เดนมาร์กและเนเธอร์แลนด์เคลียร์โรคพวกนี้ได้ง่าย เพราะเป็นฟาร์มขนาดเล็ก ล้อมรั้วลวดหนามฟาร์ม และขีดวง 3 กม. คนที่อยู่ในฟาร์มที่เป็นโรคนี้โดนขัง ห้ามไปไหน ส่งอาหารเข้าไปให้กิน เพราะเกรงคนจะออกไปแพร่เชื้อโรค และหากมีความจำเป็นต้องออกไปติดต่อข้างนอก จะต้องไม่ไปไหนอย่างน้อย 5-10 วัน สัตว์เป็นหรือสัตว์ตายห้ามเคลื่อนย้าย โดยมีทหารเข้าไปทำลายทั้งนำรถแมคโครมาขุดหลุม เผานั่งยางก่อน และขุดหลุมฝัง แต่ไทยเป็นฟาร์มขนาดใหญ่เลี้ยงอย่างต่ำ 10,000 แม่ หากขีดวง 3 กม.ทำลายหมดจะบริหารจัดการกันอย่างไร ความยากลำบากต่อไปคือ การกำจัดซาก และเคลื่อนย้ายซากสัตว์ที่ป่วย ที่ตายไปทำลายนอกสถานที่ หากฟาร์มมีพื้นที่จำกัด บทเรียนตอนฝังไก่จากโรคไข้หวัดนกหลุมลึก 5 เมตร ดินกลบด้านบนอย่างน้อย 1.5 เมตรยังระเบิดขึ้นมาได้

ราชบุรีหวั่นสูญ 2 หมื่น ล.

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดราชบุรีมีปริมาณสุกรประมาณ 4 ล้านตัว จากปริมาณทั้งประเทศ 22 ล้านตัว หากโรค African Swine Fever ที่ขณะนี้เกิดขึ้นในจีน หากเข้ามาในราชบุรี คาดว่าจะสร้างความเสียหายกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท หรือหากกระจายทั่วประเทศ คาดความเสียหาย 1.32 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้สุกรตาย 100% เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน โดยวิธีการทำลายมีเพียง 2 วิธีเท่านั้น คือ การเผากำจัดเชื้อ 100 กว่าองศา และฝังกลบที่มีความลึกไม่ต่ำกว่า 5 เมตร ซึ่งต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก และจะต้องหยุดพักประมาณ 1 ปี

ทั้งนี้แนวทางป้องกัน คือ 1.สมาคมผู้เลี้ยงสุกร ชมรม สหกรณ์ทั่วประเทศร่วมมือกันสื่อสารกับเกษตรกร ทั้งช่องทางการสัมมนาและโซเชียลมีเดีย เช่น สมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรีได้ส่งไลน์ให้ผู้เลี้ยงทุกคน ถึง 20 ปัญหาใหญ่เมื่อเกิดโรคขึ้น การแก้ไขปัญหา 2.กรมปศุสัตว์ต้องแอ็กชั่นอย่างมาก ต้องมีจุดสกัดชิ้นเนื้อและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากจีน ตรวจเศษชิ้นเนื้อและเศษอาหารที่มาจากจีนทุกช่องทาง ได้แก่ ด่าน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สนามบิน อีกทั้งกรมปศุสัตว์ต้องประสานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ให้ทราบไวที่สุด ในการหาแนวทางแก้ไขหรือเยียวยาเมื่อโรคนี้เข้ามา และ 3.การคุมเข้มฟาร์มนับเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เช่น อาหารต้องตรวจสอบที่มา มีระบบไบโอซีเคียวริตี้

“ตอนนี้สมาคมกำลังตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามปัญหาที่จะเกิดขึ้น และมีการประสานกับกรมปศุสัตว์ สำหรับฝ่ายผู้เลี้ยงก็ต้องตรวจสอบผู้เลี้ยงด้วยกันเอง เพราะจังหวัดราชบุรีเลี้ยงหมูมากที่สุดในไทย และมีปัญหาที่เกิดขึ้นคือความหนาแน่นของการเลี้ยง ระยะห่างของฟาร์มไม่เกิน 3-4 กิโลเมตร (กม.) หากมีการติดต่อจะง่ายมาก ประกอบกับในไทยมีประชากรที่เลี้ยงหมูกว่า 1.6-1.7 แสนราย เป็นรายใหญ่เพียง 30% และรายย่อยอีกกว่า 70% ซึ่งในกลุ่มนี้จะไม่มีไบโอซีเคียวริตี้ที่ดีพอ ดังนั้นต้องสื่อสารกับเกษตรกรรายย่อยให้ดีที่สุด”