“สถ.” กำชับ อปท.เร่งจัดระเบียบการให้อาหารนกในพื้นที่สาธารณะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (28 กันยายน 2561) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สั่งการให้กรุงเทพมหานคร จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดระเบียบการให้อาหารนกในพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะและวัด หรือแม้แต่พื้นที่ส่วนบุคคล ที่ส่งผลกระทบต่อผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียง หลังได้รับข้อร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนว่าหลายแห่งปล่อยปละละเลย มีการให้อาหารนกเป็นประจำ จนจำนวนนกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สร้างความรำคาญ และเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค โดยท่านนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในทุกพื้นที่ หาวิธีแก้ไขให้เกิดความสะอาดอย่างเร่งด่วน โดยเน้นขอความร่วมมือจากประชาชนในการงดให้อาหารนก เพื่อลดจำนวนนกในแต่ละจุดลง จะได้ไม่เกิดความเดือดร้อนกับคนทั่วไป

ทั้งนี้ กรมจึงเห็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง และการป้องกันและควบคุมโรค จึงกำชับให้ อปท.ดำเนินการสร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับอันตรายและโรคที่เกิดจากนกพิราบ ซึ่งเป็นพาหะนำโรค อาจก่อให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ หรือโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โดยขอให้ร่วมมือกันประชาสัมพันธ์งดให้อาหารนกพิราบในพื้นที่ที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน รวมถึงในเขตพื้นที่โรงเรียน วัด สถานที่ท่องเที่ยว และโบราณสถาน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค โดยจะต้องไม่เป็นการทำร้ายสัตว์

นอกจากนี้ให้ อปท.สร้างความรับรู้กับพี่น้องประชาชนว่าการให้อาหารนก อาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ตามมาตรา 32 (1) และ (2) ประกอบมาตรา 54 ที่มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ตามมาตรา 27 และมาตรา 28 ประกอบมาตรา 74 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือจับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย

อย่างไรก็ดี กฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงเครื่องมือท้ายๆ ที่จะใช้บังคับ เพื่อให้สังคมอยู่ได้ด้วยความสุข สิ่งที่สำคัญที่สุดของทุก อปท.ที่ต้องช่วยกันคือการช่วยกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ให้พี่น้องประชาชนเกิดความตื่นตัวที่จะป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโรคต่างๆ จากนกพิราบ ด้วยการไม่ส่งเสริมให้นกพิราบมาอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่จากการให้อาหาร รวมถึงการตรวจตราอาคาร บ้านเรือน ไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของนกพิราบที่นำไปสู่การสะสมเชื้อโรคจากมูลของนก และพิษภัยของการติดเชื้อไวรัสจากนกพิราบที่ร้ายแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ทุกสิ่งนี้ก็เพื่อให้ทุกคนในท้องถิ่นได้ตื่นตัวช่วยกันป้องกันตนเองนั่นเอง