เขตศก.พิเศษชายแดนเหงา รัฐหั่นค่าเช่า2หมื่นเหลือ1พัน

กรมธนารักษ์ประกาศปรับลดค่าเช่า-ค่าธรรมเนียม ที่ราชพัสดุเขตพัฒนาเศรษฐกิจ SEZ “หนองคาย-มุกดาหาร” ลงกว่า 80% จากเดิมค่าเช่าปีแรก 24,000 บาทเหลือ 1,800-2,100 บาท/ไร่/ปี พร้อมปรับลดค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า 50 ปีจาก 160,000 บาทเหลือ 30,000-35,000 บาท/ไร่ หวังจูงใจดึงนักลงทุนเข้าร่วมประมูลรอบหลังจากเปิดประมูล 2 ครั้งที่ผ่านมาเดี้ยง ไม่มีนักธุรกิจยื่นซอง

ว่า 3 ปีที่รัฐบาลได้กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ ตาก สระแก้ว ตราด สงขลา มุกดาหาร หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี แต่จนถึงวันนี้มี SEZ เพียง 2 จังหวัดที่ได้เอกชนเข้าบริหารพื้นที่ คือ ตราดและกาญจนบุรี ขณะที่อีกหลายจังหวัดยังมีปัญหา เช่น เชียงราย ได้ปรับแผนให้เอกชนเสนอที่ดินมาจัดตั้ง SEZ เอง ส่วนนราธิวาส การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) อยู่ระหว่างจัดซื้อที่ดินเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม

ขณะที่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัดเปิดประมูลไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง ยังไม่สามารถหานักธุรกิจเข้าไปลงทุนได้ เช่น หนองคาย ครั้งแรกมีผู้สนใจซื้อซอง 11 ราย แต่ไม่มีรายใดยื่นซองประมูล และครั้งที่ 2 มีการปรับสิทธิประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ ซึ่งมีผู้ยื่นประมูล 1 ราย แต่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์การประเมิน ส่วนมุกดาหาร เปิดประมูลมาแล้ว 2 ครั้ง และนครพนม มีการเปิดประมูลมาแล้ว 1 ครั้ง มีผู้ซื้อซองประมูล 10 ราย ไม่มีรายใดยื่นซองประมูล

หนองคาย-มุกดาหารลดราคาสุดๆ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในการประชุมคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (กนพ.) ครั้งที่ 1/2561 กรมธนารักษ์ได้เสนอปรับลดค่าเช่าและค่าธรรมเนียมการเช่าที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจหนองคายและมุกดาหาร ตามหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าเช่า ค่าทดแทน และค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ซึ่งบังคับใช้ทั่วประเทศ โดยใช้ราคาประเมินที่ดินรายแปลงเป็นฐานในการคำนวณ และได้นำเสนอคณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุนพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว

โดยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) หนองคายได้ปรับค่าเช่าจากเดิม 24,000 บาท/ไร่/ปีแรก เหลือ 2,100 บาท/ไร่/ปีแรก และค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าจาก 160,000 บาท/ไร่/50 ปี เหลือ 35,000 บาท/ไร่/50 ปี ส่วนเขตพัฒนาเศรษฐกิจมุกดาหารอัตราค่าเช่าจากเดิม 24,000 บาท/ไร่/ปีแรก เหลือ 1,800 บาท/ไร่/ปีแรก และค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าจาก 160,000 บาท/ไร่/50 ปี เหลือ 30,000 บาท/ไร่/50 ปี

ทั้งนี้ จะมีการปรับปรุงอัตราค่าเช่าร้อยละ 9 ทุก 3 ปี อัตราค่าเช่าของนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ให้ส่วนลดร้อยละ 30 จากอัตราค่าเช่าของเอกชน ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าเป็นอัตราขั้นต่ำของแต่ละพื้นที่ และกรณีผ่อนชำระคิดดอกเบี้ยในอัตราตลาด สำหรับแนวทางการชำระค่าธรรมเนียมเป็นไปตามมติ กนพ. ครั้งที่ 1/2560 คือ จ่ายครั้งเดียว หรือยกเว้นปีที่ 1-5 ผ่อนชำระปีที่ 6-10 อย่างไรก็ตาม ในการสรรหาผู้ลงทุนพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) หนองคาย ครั้งที่ 3 คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนตุลาคม 2561

เอกชนเผยเงื่อนไขไม่จูงใจ

นายธนโชติ โชติบุณยศักดิ์ รองประธานหอการค้าจังหวัดมุกดาหาร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า SEZ มุกดาหาร จำนวน 1,085 ไร่ แม้กรมธนารักษ์จะปรับลดอัตราค่าเช่า และค่าธรรมเนียมลง แต่นักลงทุนอาจจะไม่สนใจ เนื่องจากปัญหาคือ มุกดาหารมีอุตสาหกรรมเป้าหมายเพียง 5 ประเภท 1.อุตสาหกรรมการเกษตร ประมง และกิจการที่เกี่ยวข้อง 2.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ 3.กิจการโลจิสติกส์

4.นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม และ 5.กิจการสนับสนุนการท่องเที่ยว ขณะที่พื้นที่อื่น เช่น แม่สอด ได้ถึง 13 ประเภท รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ยังไม่อำนวยความสะดวกให้นักลงทุน

ซึ่งเป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่ เพราะบริเวณพื้นที่ตั้ง SEZ เป็นพื้นที่เปล่า นักลงทุนต้องเข้าไปลงทุนพัฒนาเอง โดยต้องกันพื้นที่เพื่อเป็นถนนส่วนกลาง พื้นที่จัดเก็บน้ำดิบที่ใช้ในโครงการ พื้นที่บำบัดน้ำเสีย และพื้นที่ขยะ จะเหลือพื้นที่ 70% หรือประมาณ 700 กว่าไร่ เพื่อนำมาขายหรือให้เช่าต่อ ที่สำคัญปัญหาคือเมื่อลงทุนไปแล้ว อาจจะไม่มีคนมาลงทุน เพราะถนนที่เป็นทางเข้าปัจจุบันแคบเพียง 2 ช่องจราจร ไม่ใช่ระบบไฟฟ้าแรงสูง และไม่มีสถานีไฟฟ้าย่อย

นครพนมลุ้นประมูลรอบ 2

นายธนพร พรหมพันธุ์ ธนารักษ์พื้นที่นครพนม เปิดเผยว่า พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม จำนวน 1,363 ไร่ ได้เปิดประมูลมาแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งมีผู้มาซื้อซองประมูล 10 ราย แต่ไม่ได้ยื่นซองประมูลในเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมานั้นได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ซึ่งมีข้อสรุปว่า เงื่อนไขการเปิดประมูล (TOR) ยังไม่เอื้อกับนักลงทุนรายย่อย ทำให้เอกชนในพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงควรลดค่าเช่าลง

อย่างไรก็ตาม กรมธนารักษ์มีความเห็นว่า ไม่ควรลดราคาเนื่องจากพื้นที่ SEZ นครพนมอยู่ในทำเลที่ดี ใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 โดยให้คงอัตราค่าเช่า 8,400 บาท/ไร่/ปีแรก และค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า 140,000 บาท/ไร่/50 ปี คาดว่าในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2561 จะเปิดให้ซื้อซองประมูลครั้งที่ 2

ด้านนายสุรัตน์ ก้องเกียรติกมล ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ภาคเอกชนในจังหวัดนครพนม มีการหารือกันว่าหากเปิดการประมูลครั้งที่ 2 ยังไม่มีเอกชนมายื่นข้อเสนอ และไม่สามารถตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ ภาคเอกชนในพื้นที่จะร่วมทุนกันและยื่นเรื่องขอรัฐบาลในการแบ่งพื้นที่แปลงย่อยให้นักธุรกิจในพื้นที่จัดการบนพื้นที่ประมาณ 700-800 ไร่ เนื่องจากว่านักธุรกิจในนครพนมไม่มีทุนมากพอจะพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด 1,363 ไร่ได้ โดยมีนักธุรกิจในพื้นที่เข้ามาแสดงความสนใจมากกว่า 10 รายแล้ว และจะจัดทำในลักษณะศูนย์ส่งสินค้า โกดังเก็บสินค้า ตลอดจนโรงงานขนาดกลางในการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรจำพวกข้าวและสับปะรด คาดว่าจะใช้เงินทุนทั้งสิ้นประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตจากกลุ่มผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 จังหวัดไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะประเทศไทยแทบจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางอัตราภาษีศุลกากร (GSP) จากสหรัฐ-สหภาพยุโรปอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในกลุ่มสิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม-สินค้าแปรรูปเกษตร ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว และกัมพูชา ยังคงได้รับสิทธิพิเศษ GSP อยู่ ทำให้ผู้ประกอบการที่สนใจจะตั้งโรงงานตามเขตแนวชายแดนเพื่อความได้เปรียบทางด้านแรงงานและต้นทุน “เปลี่ยนใจ” หันไปตั้งโรงงานในนิคมหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ตรงข้ามกันแทน

“แม้การตั้งโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มจากปกติ 3 ปี (รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี) หรืออยู่ในกลุ่ม A1-A2 ยกเว้น 8 ปีอยู่แล้ว แต่ยังให้ลดหย่อนร้อยละ 50 ต่ออีก 5 ปี หรือถ้าผลิตสินค้าในกลุ่มอุตฯเป้าหมาย 13 กลุ่ม ได้รับยกเว้น 8 ปีก็ตาม แต่ก็ไม่คุ้มกัน การได้รับสิทธิพิเศษ GSP เสียภาษีนำเข้าต่ำกว่าอัตราปกติจากประเทศคู่ค้า” แหล่งข่าวกล่าว