เหนือตอนบนเสนอนายกฯของบดันท่องเที่ยว-หัตถศิลป์

สร้างมูลค่าเพิ่ม - จังหวัดลำปางพยายามผลักดัน "โครงการลำปางนครหัตถศิลป์และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์" เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าในท้องถิ่น โดยของบประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อผลักดันแผนงานต่าง ๆ ให้เกิดเป็นรูปธรรม

จังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เตรียมดันท่องเที่ยวเมืองรอง 3 จังหวัด “ลำพูน-ลำปาง-แม่ฮ่องสอน” เสนอนายกฯประยุทธ์เดินสายลงพื้นที่ภาคเหนือ ด้าน “ลำปาง” เสนอของบฯ 1,000 ล้าน พัฒนาโครงการลำปางนครหัตถศิลป์และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าชุมชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 3 ตุลาคม 2561 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน เพื่อเยี่ยมชมชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ดังนั้นภาคธุรกิจในบางจังหวัดจึงเตรียมยื่นหนังสือเพื่อให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนและพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่เป็นปัญหา

นายอนุวัตร ภูวเศรษฐ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน) เปิดเผยว่า ประเด็นปัญหาด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ที่ภาคเอกชนต้องการให้เร่งผลักดันคือ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง 3 จังหวัด คือลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ที่ควรมีการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวจากเมืองหลักคือเชียงใหม่ เข้าสู่ 3 จังหวัดเมืองรองให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่เป็นส่วนใหญ่

ซึ่งที่ผ่านมาแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ยังไม่มีแผนการส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรองที่ชัดเจน ดังนั้นจึงอยากผลักดันให้นำปัญหานี้จัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว เพื่อให้ 3 จังหวัดเมืองรองเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น เกิดการกระจายนักท่องเที่ยวจากเมืองหลัก เชื่อมโยงการท่องเที่ยวภายในกลุ่มจังหวัด ที่จะก่อให้เกิดการกระจายรายได้และสร้างมูลค่าเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง

นายพีระรักษ์ พิชญกุล เลขาธิการหอการค้าจังหวัดลำปาง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) จังหวัดลำปางได้มีการจัดประชุมร่วมกันและเตรียมนำเสนอโครงการลำปางนครหัตถศิลป์และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วงเงินงบประมาณ 1,000 ล้านบาท เสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลสนับสนุนแหล่งเสริมสร้างองค์ความรู้ในการผลิตหัตถศิลป์มูลค่าสูง และสนับสนุนการดำเนินงานของผู้ประกอบการหัตถอุตสาหกรรมทั้งด้านการวิจัยและพัฒนา การบริการด้านวิชาการ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนในการพัฒนา เป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาล และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชนในเขตพื้นที่ภาคเหนือตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะการสร้างศูนย์ต้นแบบนวัตกรรมการผลิตหัตถศิลป์ที่มีการใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ และศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้า

“เราจะเตรียมยื่นหนังสือในวันที่ 3 ต.ค. แต่ยังไม่รู้ว่าจะมีโอกาสมากน้อยเพียงใด โครงการนี้หลัก ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น โดยเฉพาะการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้หัตถอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industrial Design Capital) สำหรับผู้ประกอบการ นักออกแบบ ผู้ผลิต นักเรียน/นักศึกษา และบุคคลทั่วไป เช่น Learning Center, Creative Park การถ่ายทอดองค์ความรู้ของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ (Best Practice) เพื่อประชาสัมพันธ์ การสร้างคลังความรู้ในการพัฒนาหัตถอุตสาหกรรมเชิงนวัตกรรม สร้างฐานเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ การจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการประกอบการหัตถอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการวิจัย พัฒนา การทำงานในพื้นที่แบ่งปัน การฝึกอบรม และการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์สำหรับการส่งออก จัดทำมาตรการด้านการกำจัดของเสียจากโรงงานและการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุน เป็นต้น”

นายณรงค์ ธรรมจารี ประธานหอการค้าจังหวัดลำพูน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางจังหวัดไม่ได้เตรียมเสนอโครงการต่อนายกรัฐมนตรี เพราะตามกำหนดการเวลาค่อนข้างจำกัด เนื่องจากต้องเดินทางหลายจังหวัด สำหรับปัญหาของจังหวัดลำพูนที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดมา โดยเฉพาะเรื่องการขอปรับผังเมืองและกฎหมายให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของเมือง และการลงทุน โดยที่ผ่านมามีนักธุรกิจต้องการลงทุนโรงงานอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่ แต่ติดปัญหาพื้นที่สีเขียว ไม่สามารถลงทุนได้