ภาคีตะวันออกชงครม.อัด6พันล้าน ดันSMEs8จ.สู่อุตสาหกรรมเกษตร4.0-EV

ภาคีเครือข่ายรัฐ-เอกชนภาคตะวันออกชง “อุตตม” รมว.อุตสาหกรรม ดัน 3 โครงการสำคัญ ยกระดับ SMEs ภาคตะวันออก รองรับ EEC ของบประมาณเพิ่มเติมเร่งด่วน 5,600 ล้านบาท ประเดิม 3 ปี 3 ธุรกิจแรก “ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์พัฒนาสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ใช้นวัตกรรมช่วยผู้ปลูกผลไม้ 8 จังหวัดแปรรูปเพิ่มมูลค่า พร้อมสร้าง SMEs และสตาร์ตอัพหน้าใหม่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รองรับธุรกิจการบิน”

ดร.ชาญกฤช เดชวิทักษ์ รองประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ที เอส ฟลาวมิลล์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก และประธานภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชนได้หารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของภาคตะวันออกในการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อรองรับนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาล ซึ่งได้ข้อสรุป 3 โครงการสำคัญ (flagship projects) ภายในแผน 5 ปี ได้แก่

1.การใช้นวัตกรรมพัฒนาผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวใน EEC (Green Auto Innovation Go EEC) 2.การบริหารจัดการในอุตสาหกรรมเกษตรรองรับ EEC (Agro Industry Management Go EEC) และ 3.การสร้าง SMEs และสตาร์ตอัพ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการบิน และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องสู่ EEC (Aviation Go EEC) ซึ่งได้นำเสนอ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไปแล้วรวม 3 ปี ใช้งบประมาณ 5,600 ล้านบาท คาดว่าทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีขออนุมัติงบประมาณเร่งด่วนทั้งหมดภายในเดือนตุลาคมนี้

สำหรับโครงการสำคัญอันดับแรก เรื่องการใช้นวัตกรรมพัฒนาผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากทิศทางการใช้ยานยนต์ในอีก 3-5 ปี จะเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (electric vehicle : EV) จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์จึงจำเป็นต้องปรับตัว ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้ตั้งใจผันตัวเองไปเป็นผู้ประกอบรถ EV เช่น food truck, รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า, รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และรถบัสไฟฟ้า ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตชิ้นส่วนมาประกอบได้เอง เพียงแต่ต้องซื้อแบตเตอรี่ไฟฟ้าจากประเทศจีนมาประกอบ ซึ่งสามารถทำตลาดภายในประเทศ และส่งออกไปต่างประเทศได้ นอกจากนี้มีแผนตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า 4 สถานี และสถานีชาร์จด้วยระบบโซลาร์ 8 สถานี

โครงการสำคัญอันดับที่ 2 การบริหารจัดการในอุตสาหกรรมเกษตรครบวงจรรองรับ EEC เนื่องจากในภาคตะวันออก 8 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว และปราจีนบุรี ทุกจังหวัดสามารถปลูกผลไม้ที่ขึ้นชื่อ และสามารถส่งออกในตลาดโลกได้ แต่เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้มักประสบปัญหาสินค้าล้นตลาด ราคาตก

ดังนั้น เกษตรกรหรือผู้ประกอบการต้องรู้หลักดีมานด์ ซัพพลาย ทำอย่างไรจะยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศ และตลาดโลก โดยเฉพาะความพยายามในการผลักดันให้เกิดการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น ทั้งสมุนไพร ผลไม้ โดยโครงการนี้ได้มีการดึงมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ภายในภูมิภาคตะวันออกเข้ามาช่วยกัน ทั้งการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และนวัตกรรมในการผลิตเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ลดของเสีย แปรรูปผลิตภัณฑ์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงดึงเครือข่ายภาคเอกชน ทั้งสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้ามาช่วยในเรื่องการกระจายสินค้า

“เราหารือกันจะลงไปช่วยบริหารจัดการตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงสินค้าปลายทาง โดยดูตั้งแต่ต้นน้ำว่าซัพพลาย ดีมานด์ต้องดูแลกันอย่างไร ถ้าควบคุมตรงจุดนี้ได้ แม้ผลผลิตน้อย ดีกว่าผลผลิตเหลือเกินความต้องการตลาด และต้องแจกฟรี ดังตัวอย่างในปัจจุบันปี 2561 มังคุดมีจำนวน 54,073 ตัน ส่งออกได้ 54% ขายในประเทศ 20% ตกเกรดถึง 26% ต่อไปเราจะมีการเจาะลึกลงไปถึงว่าใน 100% ของผลผลิตที่เกษตรกรปลูกได้ จะวางโมเดลให้ชัดเจน ยกตัวอย่าง 30% แรกให้ขายผลสด 30% ที่สอง ส่งออก 30% ที่สาม นำไปแปรรูปเบื้องต้น และ 10% สุดท้ายใช้นวัตกรรมในการแปรรูปขั้นสูง เช่น ทำเป็นเครื่องสำอาง เป็นต้น เพื่อหาตลาดใหม่ ๆ เพิ่มช่องทางการจำหน่าย”

โครงการสำคัญอันดับที่ 3 เรื่องการสร้าง SMEs และสตาร์ตอัพรองรับอุตสาหกรรมการบิน และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีโครงการขยาย ปรับปรุง และก่อสร้างสนามบินหลายแห่ง ทั้งสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งจะมีการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงตัวถังภายในสนามบินด้วย ถ้าสนามบินสร้างเสร็จ ตัวเลขนักท่องเที่ยวจำนวน 35 ล้านคนต่อปี คาดการณ์ว่าภายใน 3-5 ปี จะเพิ่มขึ้นไปถึง 70 ล้านคน ยิ่งเมื่อ 3 สนามบินจะถูกเชื่อมด้วยรถไฟความเร็วสูงอำนวยความสะดวก จะทำให้คนมาเที่ยวในภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น จากเดิมภาพรวมนักท่องเที่ยวทั่วประเทศ 35 ล้านคน มาเที่ยวภาคตะวันออกเพียง 17 ล้านคน จึงต้องเตรียมความพร้อมในทุกด้าน เช่น 1.เตรียมบุคลากรที่เข้าไปทำงานในสนามบิน 2.สร้าง SMEs และสตาร์ตอัพรายที่เป็นธุรกิจต่อเนื่องจากธุรกิจสายการบิน ทำให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้