“เอไอเอส”นำดิจิทัลเสริมแกร่ง 4 แกนหลักทั่วไทย ยกระดับคุณภาพเกษตรกร-สตาร์ตอัพ

นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เปิดเผยว่า แผนงานหลักสำคัญของเอไอเอสขณะนี้คือ การนำนวัตกรรมดิจิทัลไปช่วยเสริมความแข็งแกร่งในรากฐานหลักของประเทศ ผ่านแนวคิด Digital For Thais เพื่อเพิ่มศักยภาพ สร้างโอกาสการเข้าถึงและความเท่าเทียมกันของเทคโนโลยีไปสู่ประชาชน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานหลัก 4 ด้านที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ การศึกษา การเกษตร สาธารณสุข และธุรกิจสตาร์ตอัพ เพื่อขับเคลื่อนประเทศก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั่วประเทศให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

ด้านการศึกษา เอไอเอสได้เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนไทย ได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลทั้งวิชาการและสาระบันเทิง ด้วยการติดตั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและมอบกล่องสานรัก สานความรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กๆ ที่อยู่ห่างไกลทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้ติดตั้งกล่องสานรักฯ ให้กับโรงเรียนต้นแบบไปแล้ว 34 แห่ง

ด้านการเกษตร เอไอเอสจึงได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลส่งเสริมการทำงานของเกษตรกรให้ก้าวไปสู่เกษตรกร 4.0 ด้วยแนวคิดสอน เสริม สร้าง ผ่านแพลตฟอร์มฟาร์มสุข เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลสำคัญในการทำการเกษตร เพิ่มคุณภาพของผลผลิตของเกษตรกรให้สูงขึ้น รวมถึงเพื่อเป็นช่องทางตลาดออนไลน์ให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปที่หลากหลายจากทั่วทุกภูมิภาค โดยขณะนี้มีร้านค้าบนร้านฟาร์มสุข 357 ร้าน และสินค้า 1,821 รายการ

ด้านสุขภาพ ได้ส่งเสริมการทำงานด้านสาธารณสุขผ่านแอปพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ เครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่ม เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารในการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขชุมชนเชิงรุกของหน่วยบริการสุขภาพ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิกในกลุ่ม ทำให้สามารถรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร ความเคลื่อนไหวด้านสาธารณสุขและภัยสุขภาพในชุมชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ สามารถใช้งานได้กับทุกเครือข่าย แต่เมื่อใช้งานบนเครือข่ายเอไอเอสจะไม่เสียค่าบริการอินเตอร์เน็ต ปัจจุบันหน่วยบริการสุขภาพและ รพ.สต.เปิดใช้งานแอปฯ อสม.ออนไลน์ 2,200 แห่ง มีผู้ใช้งาน 48,000 คน

สำหรับด้านธุรกิจสตาร์ตอัพ ได้ร่วมพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจสตาร์ตอัพและผู้ประกอบการในระดับชุมชน โดยนำความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไปส่งเสริมให้แก่ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการต่างๆ ไปต่อยอดธุรกิจ และพัฒนาสินค้าให้สามารถเติบโตทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน

ด้านนายพรรัตน์ เจนจรัสสกุล หัวหน้าส่วนงานปฎิบัติการภูมิภาค-ภาคเหนือ เอไอเอส กล่าวว่า พื้นที่ภาคเหนือ ได้ขยายโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั้ง 4 ด้าน ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม โดยด้านการศึกษา ผ่านโครงการสานรัก สานความรู้ ด้วยการติดตั้งกล่องสานรักฯให้แก่โรงเรียนต้นแบบในภาคเหนือไปแล้ว 13 แห่ง สำหรับด้านการเกษตร ภาคเหนือมีร้านค้าที่นำสินค้ามาจำหน่ายบนร้านฟาร์มสุข 64 ร้านค้า สินค้า 333 รายการ

ด้านสาธารณสุข มีการเปิดใช้แอปฯ อสม.ออนไลน์ 540 รพ.สต. ผู้ใช้งาน 10,430 ราย สำหรับธุรกิจสตาร์ตอัพ เอไอเอสได้ส่งเสริมกลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัพ 13 ราย ใน จ.เชียงใหม่ และยังได้ร่วมมือกับศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ จ.ลำปาง นำความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไปส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนและสตรี ให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปประยุกต์ใช้ในการเป็นเครื่องมือพัฒนาตลาดออนไลน์ได้อย่างมีคุณภาพ

นายพงษ์ศักดิ์ ตันวิสุทธิ์ หัวหน้าส่วนงานดิจิทัลฟอร์ไทย เอไอเอส กล่าวว่า ด้านการเกษตร ได้พัฒนาแพลตฟอร์มฟาร์มสุข เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ โดยมีส่วนประกอบสำคัญ คือ แอปพลิเคชันฟาร์มสุข ซึ่งจะเป็นคลังความรู้และภูมิปัญญาต่างๆ ให้เกษตรกรไทย เข้าถึงข้อมูลสำคัญในการทำการเกษตร ทั้งในรูปแบบของวิดีโอ บทความ และเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในแปลงเพาะปลูกจากอุปกรณ์ NB-IOT ข้อมูลราคาซื้อ-ขายผลผลิตทางการเกษตร รวมไปถึงข้อมูลด้านการพยากรณ์อากาศที่มีความแม่นยำสูง เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังได้สร้างช่องทางตลาดออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น ร้านฟาร์มสุข ให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป รวมถึงสินค้าที่เป็นภูมิปัญญาของชุมชน (OTOP) โดยเอไอเอสมีทีมงานที่ช่วยบริหารจัดการให้เข้าถึงเทคโนโลยีและช่องทางการจัดจำหน่าย ทั้งการแนะนำการทำตลาดออนไลน์ การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ การถ่ายภาพสินค้าให้น่าสนใจ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า สร้างโอกาส สร้างรายได้ และยกระดับการจำหน่ายสินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ สอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐอย่างแท้จริง