รัฐทุ่ม1.48หมื่นล. ปี”62บูมEEC ปลุกคมนาคม-บุคลากร-ดิจิทัลรับเมืองอนาคต

ต่อเนื่อง - รัฐบาลทุ่มงบประมาณลงพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออกผ่านหน่วยงานกว่า 9 กระทรวง และหน่วยงานอื่น ๆ รวมทั้งหมด1.48 หมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2561 เพิ่มขึ้นมากกว่า 7.75 พันล้านบาท

รัฐบาลเดินหน้าบูมอีอีซี ทุ่ม 1.48 หมื่นล้าน ตั้งเป้าลงทุนไม่น้อยกว่า 10%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 17 กันยายน 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 โดยตั้งงบฯรายจ่ายไว้ 3 ล้านล้านบาท โดยได้ระบุถึงงบฯรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 1.48 หมื่นล้านบาท แยกเป็นงบดำเนินงาน 8.69 ล้านบาท งบลงทุน 1.4 หมื่นล้านบาท งบเงินอุดหนุน 670 ล้านบาท และรายจ่ายอื่นอีก 164 ล้านบาท เทียบปี 2561 รัฐได้เทงบฯมากกว่า 7.75 พันล้านบาท

โดยปี 2562 มี 9 กระทรวง 14 หน่วยงาน 2 ส่วนราชการ 3 รัฐวิสาหกิจ โดยมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งผ่านการดำเนินงาน 6 แนวทาง คือ 1) การพัฒนาระบบคมนาคม โลจิสติกส์ และดิจิทัล ได้แก่ ระบบการคมนาคมและโลจิสติกส์ได้รับการพัฒนา 11 รายการ สนามบินอู่ตะเภาเพิ่มขีดความสามารถ 1 แห่ง ก่อสร้างถนนระยะทางรวม 462.928 กิโลเมตร และก่อสร้างทางรถไฟ 2 แห่ง

2) การพัฒนาด้านการศึกษาและบุคลากรรองรับนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ การอบรมนักเรียน บุคลากร และประชาชนในพื้นที่ 24,222 คน 3) การพัฒนาเขตส่งเสริมพิเศษอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง คือผู้ประกอบการได้รับการบริการ 800 ราย 4) การพัฒนาเมือง ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ สิ่งแวดล้อมเมือง และสาธารณสุข เช่น ระบบสาธารณูปโภคได้รับการพัฒนา 15 แห่ง พื้นที่เขตชุมชนได้รับการพัฒนาตามผังเมือง 6 พื้นที่ และวางผังเมืองชุมชน 7 ผัง

5) การพัฒนาศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ การบริการและการอำนวยความสะดวก ได้แก่ การบริหารจัดการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ 1 ศูนย์ ตรวจคนเข้าเมืองได้รับการพัฒนา 1 แห่ง และแนวทาง 6) การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้สามารถจำแนกได้ดังนี้ 1.สำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ 49.34 ล้านบาท แยกเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 30 ล้านบาท ได้แก่ โครงการชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) 19.34 ล้านบาท 2.กระทรวงกลาโหม งบประมาณลงไปที่กองทัพเรือ 517 ล้านบาท 3.กระทรวงคมนาคม 1.09 หมื่นล้านบาท ได้แก่ กรมทางหลวง 9.8 พันล้านบาท กรมทางหลวงชนบท 1.1 พันล้านบาท และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร 9.27 ล้านบาท เช่น โครงการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัดเพื่อรองรับอีอีซี

ขณะที่ 4.หน่วยงานในกำกับของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับงบประมาณลงไปที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลรวม 321 ล้านบาท ได้แก่ โครงการจัดตั้งสถาบันไอโอทีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต 5.กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้รับงบประมาณ 354 ล้านบาท ด้าน 6.กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้รับงบประมาณ 51.53 ล้านบาท 7.กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 6.14 ล้านบาท สำหรับ 8.กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานในกำกับ ได้รับงบประมาณรวม 110.62 ล้านบาท แยกเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 90.62 ล้านบาท และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 20 ล้านบาท

ในส่วน 9.กระทรวงสาธารณสุข งบประมาณ 64.83 ล้านบาท ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 59.5 ล้านบาท กรมควบคุมโรค 5.33 ล้านบาท 10.ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งสิ้น 339.82 ล้านบาท ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 69.49 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 270.32 ล้านบาท

และ 11.รัฐวิสาหกิจ งบ 2.03 พันล้านบาท แยกเป็น สถาบันการบินพลเรือน โครงการพัฒนาบุคลากรด้านการบิน เพื่อรองรับการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา 38.12 ล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย 143.92 ล้านบาท เช่น โครงการก่อสร้างสถานีรถไฟอู่ตะเภา 27.16 ล้านบาท ขณะนี้คืบหน้า 45.33% โครงการศึกษาความเหมาะสมของโครงการก่อสร้างทางคู่ สายชุมทางศรีราชา-ระยอง และมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-คลองใหญ่ 45 ล้านบาท โครงการก่อสร้างปรับปรุงทางรถไฟเข้าพื้นที่ท่าเรือจุกเสม็ด 97.83 ล้านบาท คืบหน้าแล้ว 35.92% และการประปาส่วนภูมิภาค 1.85 พันล้านบาท