“พิโกไฟแนนซ์” ไม่ขลัง ! ยื่นขอกู้เงินน้อย คนไม่รู้จัก-ไร้หลักทรัพย์ค้ำ หันพึ่งหนี้นอกระบบ

“พิโกไฟแนนซ์” อนุมัติจดทะเบียนแค่ 66 บริษัทจากผู้ยื่นขอล่าสุด 324 ราย ขั้นตอนพิจารณาล่าช้ากว่า 3 เดือน ด้านจำนวนผู้กู้ยังน้อย เหตุการประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึง คนกู้ไร้หลักทรัพย์-โฉนดที่ดินค้ำประกัน หวนคืนกู้หนี้นอกระบบเช่นเดิม ด้านผู้ประกอบการวอนสถาบันการเงินรัฐหนุนปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม หวังนำมาปล่อยกู้ได้เพียงพอกับความต้องการ

นายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเค 2017 จำกัด ผู้ให้บริการพิโกไฟแนนซ์ในจังหวัดภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด หรือพิโกไฟแนนซ์ (Pico Finance) ยังมายื่นขอจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีการยื่นขอจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 324 บริษัท โดยได้รับการอนุมัติแล้วจำนวน 66 บริษัท รอการพิจารณาอนุมัติ 29 บริษัท และส่วนที่เหลืออีกประมาณ 226 บริษัทยังติดปัญหาเอกสารไม่ครบ ไม่มีเอกสารตัวจริง หรือกรอกเอกสารผิด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้เพียงส่วนหนึ่ง เพราะปัจจัยด้านแหล่งเงินทุน และการประชาสัมพันธ์ที่ยังไม่ทั่วถึง ทำให้ประชาชนยังไม่รู้จักว่าพิโกไฟแนนซ์คืออะไร จึงเข้ามาใช้บริการเงินกู้จากพิโกไฟแนนซ์เพียงบางส่วนเท่านั้น

สำหรับปัญหาแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการนั้น ปัจจุบันกำหนดให้มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาทต่อบริษัท ซึ่งวงเงินไม่พอแก้หนี้นอกระบบได้ เพราะหากได้รับอนุมัติทั้งหมด 324 รายตามที่ยื่นขอไว้ก็จะมีเงินในระบบพิโกไฟแนนซ์เพียง 1,600 ล้านบาท จากยอดทั้งหมดในปี 2559 มีประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของหนี้นอกระบบในประเทศทั้งหมด ดังนั้นถ้ามีเงินทุนประมาณ 20 ล้านบาทต่อบริษัท จะมีเงินในระบบกว่า 6 พันล้านบาท ซึ่งจะสามารถดึงผู้ให้กู้นอกระบบเข้ามาในระบบ และส่งผลให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้หมดไป

นอกจากนี้ผู้ให้กู้นอกระบบบางรายก็ไม่มีเงินทุนพอที่จะขอยื่นจดทะเบียน เช่น มีเงินทุนเพียง 3 ล้านบาท ซึ่งสามารถปล่อยกู้หนี้นอกระบบได้ แต่ก็ไม่สามารถยื่นขอจดทะเบียนพิโกไฟแนนซ์ได้ ทำให้หนี้นอกระบบจะยังคงอยู่ต่อไป ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายที่มีเงินทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท แต่เมื่อเงินทุนหมดก็ไม่สามารถปล่อยกู้ต่อไปได้ เพราะไม่มีแหล่งทุนมาสนับสนุน

เมินกู้ – พิโกไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อรายจิ๋ว ได้รับใบอนุญาต 66 บริษัทแล้วจากผู้ยื่นขอจดทะเบียนล่าสุด 324 ราย และมีผู้ใช้บริการน้อย เพราะประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจและคนกู้ส่วนใหญ่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงยังคงกู้หนี้นอกระบบต่อไป

นายสมเกียรติเปิดเผยอีกว่า พิโกไฟแนนซ์ได้มีการจัดกลุ่มลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1.กลุ่มผู้มีรายได้รายวัน เช่น ลูกจ้างรายวัน พ่อค้า แม่ค้า 2.กลุ่มผู้มีรายได้รายเดือน เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานโรงงาน 3.กลุ่มที่มีทรัพย์สิน เช่น โฉนดที่ดิน และเกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้โฉนดที่ดินเป็นหลักทรัพย์ในการกู้ยืม กลุ่มเป้าหมายหลักคือ เกษตรกร และข้าราชการ แต่ในภาคตะวันออกจะเป็นกลุ่มพนักงานโรงงานที่กู้ยืมโดยมีผู้ค้ำประกัน

“วงเงินกู้ยืมเริ่มตั้งแต่หลักพันบาทไปจนถึง 5 หมื่นบาทเต็มเพดาน อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี และระยะเวลากู้จะแตกต่างกันไปทั้งรายวัน รายเดือน รายปี ส่วนช่วงเวลาที่คนมากู้เงินมากที่สุดคือ เดือนพฤษภาคม และพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงเปิดเทอม” นายสมเกียรติกล่าว

ด้านนายบูรพงศ์ วรรักษ์ธารา กรรมการผู้จัดการ บริษัท บูราพาณิชย์ จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ในจังหวัดขอนแก่น ที่ได้เริ่มเปิดกิจการมาตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2560 และเริ่มดำเนินการปล่อยกู้ประมาณปลายเดือนกรกฎาคม

ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นได้รับอนุมัติให้ทำธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ประมาณ 3 ราย ซึ่งการขออนุญาตต้องใช้เวลาดำเนินการกว่า 3 เดือน ถือว่าค่อนข้างล่าช้า และมีการประชาสัมพันธ์น้อย ทำให้คนขอนแก่นรู้จักพิโกไฟแนนซ์น้อยมากไม่ถึง 5% คาดว่าสิ้นปีนี้น่าจะมีคนรู้จักพิโกไฟแนนซ์เพียง 50% เท่านั้น

“ตอนนี้มีผู้ผ่านการกู้ยืมเพียง 5 คนเท่านั้นด้วยวงเงินเต็มจำนวน 5 หมื่นบาท พร้อมสัญญากู้ประมาณ 2 ปีโดยใช้โฉนดที่ดินเป็นหลักทรัพย์ ส่วนลูกค้าที่เข้ามาติดต่ออีกประมาณ 10 รายไม่เข้าข่ายที่จะให้กู้ได้ เพราะไม่มีหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อกู้ยืมได้”

นายบูรพงศ์ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของการแก้หนี้นอกระบบนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ 1.ในอีก 2 ปีถัดไปจะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้ เพราะยังขาดการประชาสัมพันธ์อยู่มาก 2.การดำเนินการอาจจะต้องใช้เวลา 4-5 ปี เพราะต้องรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้คนรู้จัก อีกทั้งกฎระเบียบของภาครัฐในการประกอบการพิโกไฟแนนซ์ค่อนข้างเคร่งครัด ส่งผลให้การปล่อยกู้รายย่อยทำได้ยากสำหรับผู้ที่ไม่มีทรัพย์สินค้ำประกัน

นอกจากนั้นเงินทุนของผู้ประกอบการก็มีจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอที่จะปล่อยกู้และส่วนใหญ่เป็นเงินทุนส่วนตัวทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องการให้สถาบันการเงินของรัฐช่วยสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติม

ขณะที่นายชัยวัฒน์ เสรีรัตน์ เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด ทรัพย์โอเค พิโก ร้อยเอ็ด กล่าวว่า จังหวัดร้อยเอ็ดมีบริษัทจดทะเบียนพิโกไฟแนนซ์ประมาณ 10 บริษัท ซึ่งมีจำนวนมากกว่าจังหวัดอื่น เนื่องจากบางบริษัทมีเจ้าของเดียวกันหลายสาขา และมีการขอใบอนุญาตพร้อมกัน อาทิ กลุ่มศรีสวัสดิ์ที่มีสาขาอยู่ในตัวเมืองร้อยเอ็ดไม่ต่ำกว่า 5 สาขา ซึ่งแนวโน้มน่าจะมี

ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นอีก เพราะหนี้นอกระบบมีอัตราดอกเบี้ยสูง และพิโกไฟแนนซ์เป็นทางเลือกที่ประชาชนสามารถกู้เงินได้โดยมีต้นทุนดอกเบี้ยที่ถูกลง ส่วนกลุ่มลูกค้าที่มากู้เงินส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกร แม่ค้า วงเงินกู้ตั้งแต่ 1-5 หมื่นบาท


“หากจะทำให้หนี้นอกระบบลดลงหรือหมดไป รัฐต้องออกนโยบายให้คนเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น รวมทั้งน่าจะเพิ่มวงเงินมากกว่านี้ เพราะบางคนไม่มีโฉนดแต่ก็มีคนค้ำ ซึ่งในอนาคตจะสามารถดึงหนี้นอกระบบเข้ามาในระบบได้อีกส่วนหนึ่ง แต่ในระยะเวลาอันใกล้ กลุ่มคนที่ไม่มีเครดิต ไม่มีทรัพย์สินหรือคนค้ำประกันก็ยังคงต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบเหมือนเดิม” นายชัยวัฒน์กล่าว