ชุมพรชวนขึ้น “เขาดินสอ” ดูเหยี่ยวอพยพ 20-23 ต.ค.นี้

ดูเหยี่ยว2

กลับมาอีกครั้งกับเทศกาลดูเหยี่ยวอพยพแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 20-23 ตุลาคม 2561 จากที่เริ่มต้นจัดเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2545 ที่ ต.ท่ายาง อ.เมือง จ.ชุมพร โดยมี “ชูเกียรติ นวลศรี” ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท่ายาง และเป็นประธานชมรมดูนกจังหวัดชุมพรในขณะนั้นเป็นผู้ริเริ่ม และจัดติดต่อกันมาจนกลายเป็นงานประจำปีของจังหวัด

“ชูเกียรติ” บอกว่า ถือเป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติหนึ่งเดียวที่จังหวัดชุมพรได้รับการยอมรับว่า เป็นจุดที่สามารถเฝ้าดูเหยี่ยวอพยพได้ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก อาจเป็นเพราะความโดดเด่นของจังหวัดที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายู ทำให้แต่ละปีมีความหนาแน่นของเหยี่ยวอพยพจำนวนมาก ย้ายถิ่นจากประเทศต่าง ๆ แถบไซบีเรียและทางตอนเหนือของทวีปเอเชีย เช่น รัสเซีย มองโกเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ลงมายังตอนใต้ของทวีป

เหยี่ยวอพยพที่บินผ่านจังหวัดชุมพรในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน เฉลี่ยมีประมาณ 250,000-400,000 ตัวต่อปี แต่ละช่วงสัปดาห์ของทั้ง 3 เดือน เหยี่ยวอพยพแต่ละชนิดล้วนบินมาอย่างตรงต่อเวลาเสมอ เพราะบริเวณที่เหยี่ยวอาศัยอยู่มีอุณหภูมิลดต่ำลงมาก อาหารที่เคยหากินได้ตามปกติไม่เพียงพอ จึงต้องอพยพย้ายถิ่นลงมาทางใต้ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า

“จุดชมวิวเขาดินสอ ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร (ปัจจุบันเป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ) มีความเหมาะสมต่อการผลักดันให้เป็นจุดดูเหยี่ยวอพยพที่ถาวร และสามารถสร้างคุณค่าได้มากกว่าเป็นเพียงจุดชมวิว จึงประสานกับอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร (นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2551-2553) และผู้นำท้องถิ่นในขณะนั้น เพื่อก่อสร้างอาคารสำหรับใช้เป็นศูนย์กลางในการดูเหยี่ยวอพยพ เขาดินสอ จนกลายเป็นจุดดูเหยี่ยวอพยพถาวรของจังหวัดชุมพรมาถึงปัจจุบัน

มีนักดูนกและนักถ่ายภาพทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ความสนใจมุ่งมั่นที่จะเฝ้าดูถ่ายภาพปรากฏการณ์ดังกล่าวตลอดทั้งวันในช่วงเวลา 07.00-17.00 น. เพราะนกล่าเหยื่อหรือนกเหยี่ยวอพยพที่บินเข้ามาจะอยู่ในระดับสายตาจึงสามารถดูได้ใกล้ชิดกว่าสถานที่อื่น ๆ”

“ชูเกียรติ” ให้ข้อมูลว่า ชนิดของเหยี่ยวที่พบมากถึง 28 ชนิด มีอยู่ 6 ชนิดหลักที่มีจำนวนนับแสนตัว ได้แก่ เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ (black baza) เหยี่ยวผึ้ง (oriental honey buzzard) เหยี่ยวหน้าเทา (grey-faced buzzard) เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน (Chinese sparrowhawk) เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น (Japanese sparrowhawk) และเหยี่ยวชิครา (shikra) โดยเฉพาะเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำเป็นนกที่พบใน จ.ชุมพรได้มากที่สุดของโลก

ต่อมาองค์กรด้านการอนุรักษ์นก (Royal Society for the Protection of Birds) ได้ตีพิมพ์ลงหนังสือ Migration Hotspots ; The World”s Best Migration Sites ยืนยันว่า บริเวณเขาดินสอ อ.ปะทิว จ.ชุมพร เป็นจุดดูนกล่าเหยื่อที่ดีที่สุดจุดหนึ่งของโลกเลยทีเดียว

ดูเหยี่ยว2

นอกจากนี้ “ธนนท์ พรรพีภาส” นายอำเภอปะทิว บอกว่า ในปี 2561 จ.ชุมพรโดย อ.ปะทิวร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มูลนิธิฟลายเวย์ (Fly Way Foundation) และเทศบาลตำบลบางสน อ.ปะทิว กำหนดจัดเทศกาลดูเหยี่ยวอพยพเขาดินสอ ประจำปี 2561 (Khao Din Sor Migrating Raptors Watching 2018) ณ จุดชมวิวและศูนย์ศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร ระหว่างวันที่ 20-23 ตุลาคม 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พร้อมศึกษาวิจัยชีวิตของนกล่าเหยื่อ รวมทั้งสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชน จ.ชุมพร

“ภายในงานมีกิจกรรมน่าสนใจมากมาย เช่น กิจกรรมจิบกาแฟ แลเหยี่ยว เที่ยวเขาดินสอ กิจกรรมเดินวิ่งมินิมาราธอนพิชิตยอดเขาดินสอ การแข่งขันตกปลา การประกวดภาพถ่ายนกเหยี่ยวอพยพ การประกวดออกแบบว่าวเหยี่ยว การประกวดแต่งกายแฟนซีนกเหยี่ยว และมัคคุเทศก์น้อยนำเที่ยวดูเหยี่ยวเขาดินสอ นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมสุดพิเศษ คือ “ยืด ยิง อยู่ ยืน” ด้วยการเชิญชวนให้ผู้ร่วมกิจกรรมใช้หนังสติ๊กดีด (ยิง) เมล็ดพันธุ์พืชเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เขาดินสอด้วย”

จากการติดตามและเฝ้าดูในภาคสนามทราบว่า ช่วงปลายเดือนกันยายน-พฤศจิกายนของทุกปี มักจะมีนกล่าเหยื่อจำพวกเหยี่ยวกว่า 28 ชนิด ที่บินอพยพผ่านพื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและจุดชมวิวเขาดินสอ ทั้งนี้ เทศบาลตำบลบางสนได้จัดเทศกาลดูเหยี่ยวอพยพเป็นประจำทุกปี เปรียบเสมือนเป็นการต้อนรับเหยี่ยวอพยพซึ่งถือเป็นอาคันตุกะหน้าหนาว นอกจากนี้ เป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพรให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น