ในฤดูผลไม้เกษตรกรชาวสวนมักจะประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาดทุกปี “รัฐไท พงษ์ศักดิ์” ประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจชุมชนปัถวี จ.จันทบุรี จึงรวมกลุ่มกับชาวสวนกว่า 40 ราย ร่วมมือกันเป็นเครือข่ายมีพื้นที่พันกว่าไร่ รุดหน้าทำสวนผลไม้ออร์แกนิกแก้วิกฤตปัญหา
“รัฐไท” เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันตนเองอายุ 50 ปีแล้ว ทำสวนผลไม้มาตั้งแต่รุ่นพ่อ-แม่ ปัญหาที่ชาวสวนต้องประสบทุกปี คือผลไม้ล้นตลาดและขาดคุณภาพ แต่จะประกาศตัวว่าคุณภาพผลผลิตของตัวเองดีกว่าชาวสวนรายอื่นไม่สามารถทำได้ เพราะชาวสวนทุกคนต่างบอกว่าผลผลิตของตัวเองดี ฉะนั้น ต้องนำเสนอผลผลิตที่มีคุณภาพดีจริงและปลอดสารพิษ แสดงจุดยืนที่แตกต่างจากผลไม้ใช้สารเคมี
“สำหรับผมมีสวนผลไม้ทั้งหมด 32 ไร่ เป็นผลไม้ 4 ชนิด ได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง และปลูกยางพาราอีก 10 กว่าไร่ นับตั้งแต่เริ่มเปลี่ยนจากผลไม้ใช้สารเคมีมาเป็นผลไม้ออร์แกนิก ตอนเริ่มแรกผมทดลองกับสวน 2-3 แปลง เป็นแปลงผสมมีทั้งผัก ผลไม้ ยางพารา
ข้อดีของการทดลอง คือ หากผลไม้ไม่ออกดอกออกผล ยังมียางพาราที่สามารถสร้างรายได้ ใช้เวลานานพอสมควร 5-7 ปี ลองผิดลองถูกจนรู้จริงว่าปัญหาเกิดจากอะไร พยายามแก้ปัญหาให้ตรงจุด
ในทุกเดือนจะมีการเปิดประชุมกับเพื่อนสมาชิกทุกคนเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในการแก้ปัญหาต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จและได้ขอรับรองมาตรฐานจากออร์แกนิกไทยแลนด์ประมาณปี 2546-2547 ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลจนสามารถส่งออกได้”
“รัฐไท” บอกว่า ในการทำสวนผลไม้ออร์แกนิกต้องเป็นสวนผสมผสานเท่านั้น เพื่อป้องกันโรคและแมลง หากปลูกพืชเชิงเดี่ยวทั้งแปลงจะเกิดโรคและควบคุมแมลงได้ยาก คนที่จะทำสวนผลไม้ออร์แกนิกจะต้องมุ่งมั่นทำด้วยใจ เพราะต้องมีการตรวจสอบย้อนกลับด้วย 1.คุณภาพ 2.สารเคมีตกค้าง
การทำผลไม้ให้ได้ตรงตามมาตรฐาน 100% จะต้องเตรียมปัจจัยให้พร้อม โดยเฉพาะปุ๋ยอินทรีย์สามารถนำมาทดแทนปุ๋ยเคมีได้ ต้องให้เพียงพอต่อพื้นที่ไร่ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ออกลูกสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด เนื่องจากพืชสามารถดูดสารอาหารจากปุ๋ยอินทรีย์ได้ช้ากว่าปุ๋ยเคมี ต้องเติมบ่อย และสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการผสมเกสร จากเคยใช้ฮอร์โมนกระตุ้นต้องหันกลับมาเลี้ยงแมลงอย่างผึ้งเพื่อผสมเกสร จนสามารถสร้างผลผลิตที่ไม่มีสารเคมีอยู่เลย
ยกตัวอย่าง เงาะ เมื่อใช้ฮอร์โมนหรือใช้สารเคมีสามารถแปลงเพศจนติดผลได้ง่าย แต่การใช้แมลงหรือแรงลม พืชจะมีเกสรตัวผู้ตัวเมียสลับกัน เป็นการอาศัยธรรมชาติ เมื่อออกผลพอมีสีเขียวเหลืองก็เริ่มหวาน วัดความหวานได้ตั้งแต่ 18-22 บริกซ์ ไม่ฉ่ำน้ำ สามารถทิ้งไว้ได้นานกว่า 10 วัน
ส่วนมังคุดหากอยากได้คุณลักษณะหัวเขียว ผิวมัน เหมือนตลาดทั่วไปที่ใช้การพ่นสารเคมี 5 ครั้ง แต่สำหรับมังคุดออร์แกนิกต้องพ่นสมุนไพรแทนสารเคมีกว่า 15 ครั้ง
ด้านทุเรียนปกติทั่วไป ชาวสวนจะตัดผลผลิตเมื่อผลแก่ 60-70% รสชาติจะไม่หวาน ไม่หอม มีแป้งอยู่ และจะเร่งผลสุกโดยการป้าย เป็นการบ่มทางเคมี ส่วนทุเรียนออร์แกนิกจะต้องตัดเมื่อผลแก่ 90% นับอายุ 120-140 วันเท่านั้น
“สรุปคือผลไม้ออร์แกนิกราคาจะไม่แตกต่างจากผลไม้ที่ใช้สารเคมีตามตลาดทั่วไป จุดสังเกตคือรูปลักษณ์จะไม่สวยงาม แต่เนื้อในทั้งคุณภาพและรสชาติดี ในกลุ่มชุมชนปัถวี เราส่งขายไป 3 ช่องทาง คือ
1.ส่งขายท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต มีสัดส่วนประมาณ 70% 2.ส่งออกไปยังประเทศจีน 5-10% เรียกได้ว่าส่งออกน้อยมาก แต่ทั้งราคาและคุณภาพไม่มีคู่แข่งเลย 3.เก็บไว้บริโภคและเปิดสวนต้อนรับนักท่องเที่ยว และการส่งขายที่ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เราได้ราคาที่สูงกว่าตลาดทั่วไป 10-20%
ทำให้ชาวสวนอย่างเรามีแรงและมานะในการสร้างผลผลิตที่ได้มาตรฐานต่อไป หลัก ๆ ราคามังคุดเฉลี่ยต่ำสุดและสูงสุดอยู่ที่ 70-100 บาทต่อกิโลกรัม 1 ไร่ให้ผลผลิต 700-1,500 กิโลกรัม ทุเรียนราคา 100-150 บาทต่อกิโลกรัม 1 ไร่ให้ผลผลิต 3-4 ตัน เป็นต้น”
อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานของกลุ่มชุมชนปัถวี 4 ปีที่ผ่านมา หากผลผลิตล้นตลาด กลุ่มก็แทบจะไม่ได้รับผลกระทบเลย เนื่องจากมีตลาด มีวิธีการจัดการ คือ ส่งออก ส่งท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เปิดสวนให้นักท่องเที่ยวและเก็บไว้กินเอง
ถือเป็นกลุ่มชาวสวนที่ประสบความสำเร็จ มีเงินเก็บ เงินออม มีเงินลงทุน และเงินรักษาตัวในอนาคต และหลังจากนี้ในปี 2562 ยังได้วางแผนต่อยอดเพื่อทำผักออร์แกนิกกว่า 30 ชนิด และมีผักพื้นบ้านอีก 20 ชนิด เช่น ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ที่กำลังลงแปลงปลูกกันส่งขายต่อไป