ดัชนีความเชื่อมั่น “ภาคใต้” ลด “ยาง-ปาล์ม” ราคาดิ่ง-นทท.จีนหด

หอการค้าไทย ร่วมกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดแถลงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนกันยายน 2561 พบว่าทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ มีการปรับตัวลดลงทั้งหมด โดยเฉพาะภาคใต้ที่มีค่าดัชนีต่ำที่สุด อยู่ที่ 47.3

“รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ครั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นของใต้ต่ำสุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ ช่วง 4 เดือนแรก ตัวเลขแตะระดับ 50 และค่อย ๆ ลดลงมาจนถึงระดับต่ำสุดเท่าที่เคยสำรวจมา โดยปัจจัยลบสำคัญมาจากความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวลดลง

ราคาสินค้าเกษตรทรงตัวต่ำอย่างต่อเนื่อง และการขาดแคลนแรงงานผีมือ ขณะที่ปัจจัยบวก คือ การใช้จ่ายของภาครัฐที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในภาคใต้

การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง แนวทางที่อยากให้แก้ไข ได้แก่ การกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน จัดตั้งศูนย์วิจัยพืชในท้องถิ่น กระตุ้นราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น โดยเฉพาะยางและปาล์มน้ำมัน

“วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ เป็นภาคที่มีเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดของประเทศ จากปัจจัย คือ

1.พืชผลเกษตรกรรมราคาตกต่ำ โดยภาพรวมด้านเกษตรของภาคใต้มีผลผลิตสูงขึ้น 13% ราคาลดลง 16% ดังนั้น รายได้ของเกษตรกรลดลง 5.4% ทำให้สถานการณ์ภาพรวมเป็นลบทุกเรื่อง

ในส่วนของยางพารา ภาคใต้มีผลผลิต 4 ล้านตัน แต่ราคาตกต่ำเหลือ 39 บาท/กิโลกรัม (กก.) จากที่เคยอยู่ 40-60 บาท/กก. รวมถึงการส่งออกลดลง เพราะจีนนำเข้าลดลง จากที่มีการปลูกที่ สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา

ขณะที่นโยบายให้หน่วยงานรัฐนำยางไปใช้ไม่ขยับเท่าที่ควร ดังนั้น ต้องกระตุ้นให้ท้องถิ่นนำยางไปทำถนนมากขึ้น และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของยางให้มากขึ้น รวมถึงปาล์มน้ำมัน สับปะรด และมะพร้าว ที่ราคาเหลือ 3 บาท/กก. จาก 20 กว่าบาท/กก.

2.การท่องเที่ยวในภาคใต้ชะงัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่หายไปกว่า 3 แสนคน เนื่องจากเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต นักท่องเที่ยวจีนปะทะกับเจ้าหน้าที่สนามบิน การปิดอ่าวมาหยาอย่างไม่มีกำหนด ส่งผลให้ไม่สามารถขายแพ็กเกจทัวร์ได้ และการจำกัดนักท่องเที่ยวเข้าเกาะสิมิลัน 3 พันคน/วัน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดมาเฟียขึ้น

ปัจจุบันไทยมีนักท่องเที่ยวจีนเข้าประเทศ 10 ล้านคน/ปี ค่าใช้จ่ายต่อหัวประมาณ 5 หมื่นบาท สำหรับภาคใต้ ไตรมาส 1 มีนักท่องเที่ยวจีน 9 แสนคน เพิ่มขึ้น 33% ไตรมาส 2 เข้ามา 8 แสนคน เพิ่มขึ้น 32%

ขณะที่ไตรมาส 3 มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเพียง 5 แสนคน หายไป 3 แสนคน หรือลดลง 6% ทำให้ภาคใต้เสียรายได้กว่า 1.5 หมื่นล้านบาท สำหรับไตรมาส 4 ปกติจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา 15-20% หรือประมาณ 1 ล้านคน

แต่ทั้งนี้ภาพของนักท่องเที่ยวที่ไหลออกไปค่อนข้างหยุดนิ่งแล้ว ถ้าหากรัฐบาลยังไม่มีมาตรการไปเชิญชวน สร้างความมั่นใจ หรือสร้างความปลอดภัย ดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมา จะทำให้สูญเสียรายได้อีก 2.5 หมื่นล้านบาท

หากรวมทั้งไตรมาส 3-4 ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท รวมถึงรัสเซียที่ลดลงถึง 20% ปกติอัตราการเข้าพักในช่วงนี้ 70-80% ตอนนี้เหลือเพียง 50%

ขณะเดียวกันยังคงมีปัจจัยบวกเช่นกัน จากนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เข้ามามากขึ้น แม้การใช้จ่ายต่อหัวจะน้อยกว่า และนักท่องเที่ยวเฉพาะภาคใต้ตอนล่างเท่านั้น เช่น หาดใหญ่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา และสมุย


ประกอบกับการค้าชายแดน 3 ไตรมาสที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 5.47 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ส่งออก 3.2 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าไตรมาส 4 น่าจะยังบวกอยู่ เพราะการค้าผ่านมาเลเซีย ไปสิงคโปร์ หรือประเทศที่ 3 ยังทำได้อย่างต่อเนื่อง ด้านการนำเข้าอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท