“หอการค้าเชียงใหม่” หนุนอีเวนต์ดึงจีนเที่ยวไฮซีซั่น ดัน ศก.ดิจิทัลเชื่อมการค้า 11 ด่านจีน

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เผยเศรษฐกิจไตรมาส 3 นักท่องเที่ยวจีนหด หนุนภาครัฐ-ผู้ประกอบการท่องเที่ยวโหมอีเวนต์ มั่นใจ นทท.จีนจะสวิงกลับมาช่วงไฮซีซั่น ชี้ไตรมาส 4 เศรษฐกิจขยายตัวทิศทางที่ดี โดยเฉพาะธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมีแนวโน้มเติบโตสูงต่อเนื่อง พร้อมวางกลยุทธ์นำเศรษฐกิจดิจิทัล- Cross Border E-Commerce บุกเชื่อมการค้า 11 ด่านของจีน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า วันนี้ (30 ตุลาคม 2561) หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ ไตรมาส 3 โดยมีนางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการแถลงข่าว พร้อมด้วยนายสมชาย ทองคำคูณ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ณ โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง เชียงใหม่

นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงสถานการณ์เศรษฐกิจ จ.เชียงใหม่ ว่า ในช่วงไตรมาส 3 ภาพรวมเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี มีบางภาคส่วน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนลดลง ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการนำเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ลดลงมาก และกลุ่มท่องเที่ยวด้วยตนเอง (Free and Independent Traveler : FIT) ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีกำลังซื้อสูงก็ลดลงด้วย

ทั้งนี้ หอการค้าเชียงใหม่มองว่า ประเด็นนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงเป็นภาวะเพียงชั่วคราว ซึ่งในข้อเท็จจริงประเทศเป้าหมายอื่นๆ ก็พบว่านักท่องเที่ยวจีนลดลงเช่นกัน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนเองด้วย แม้ภาพรวมเชียงใหม่จะมีนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นมาชดเชย อาทิ เกาหลีใต้ มาเลเซีย และอเมริกา แต่จำนวนก็ไม่ได้สูงมากนัก ดังนั้น หอการค้าฯ พร้อมร่วมกับภาครัฐและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ในการเร่งจัดอีเวนต์ด้านการท่องเที่ยวเพื่อดึงนักท่องเที่ยวจีน โดยคาดว่ากลุ่มจีนจะกลับมาในช่วงไฮซีซัน ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลท่องเที่ยวของเชียงใหม่ ขณะเดียวกันจำเป็นต้องกระจายและดึงนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในกลุ่มใหม่เพิ่ม ทั้งจากตะวันออกกกลาง หรืออาเซียน

โดยหอการค้าฯ เชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังคงเป็นเป้าหมายหลักที่นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอยู่ โดยเฉพาะเชียงใหม่ ที่ทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามามีส่วนแก้ไขและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในด้วย โดยเน้นจุดขายด้านวัฒนธรรมและการตลาดออนไลน์พร้อมกัน ซึ่งในสถานการณ์นี้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจีน จะต้องวางแผนลดต้นทุนระหว่างรอสถานการณ์การท่องเที่ยวคลี่คลาย แล้วค่อยทำการตลาดใหม่ช่วงฤดูหนาวและตรุษจีน ผู้ประกอบการที่มีความสามารถ ควรหากลุ่มลูกค้าจากประเทศอื่น ๆ มาทดแทน เพื่อลดความเสี่ยง ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันดูแลให้ทุกฝ่ายเคร่งครัดกฎระเบียบ และข้อบังคับมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังพบว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 ในภาคการเกษตรเริ่มกระเตื้องขึ้น เนื่องจากผลผลิตลำไยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5-7 จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และสามารถทยอยเก็บผลผลิตออกสู่ตลาด ไม่กระจุกตัว ราคาดีขึ้น รวมถึงมีการส่งเสริมด้านการตลาดออนไลน์และการแปรรูป ทำให้ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก อย่างไรก็ตามภาคการเกษตรก็จะเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว หากเราช่วยกันส่งเสริมให้เกิดภาคการท่องเที่ยวเติบโตขึ้น ก็จะช่วยกันเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และจะกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ได้ เศรษฐกิจก็จะหมุนเวียนตามมาด้วย

นางวิภาวัลย์กล่าวต่อว่า หอการค้าเชียงใหม่ ให้ความสำคัญกับการนำเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใน จ.เชียงใหม่ โดยการนำไอทีหรือเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการต่าง ๆ ซึ่ง จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางด้านท่องเที่ยว การค้า การลงทุน การศึกษา เกษตรอินทรีย์ อาหาร สุขภาพ การแพทย์ และผู้สูงอายุ รวมทั้งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทำให้สามารถสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพได้หลากหลาย

ทั้งนี้มูลค่าการค้าแบบอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) มีอัตราการเติบโตสูง ซึ่งในระดับประเทศ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอีเล็กทรอนิกส์ (ETDA) คาดว่าจะโต 16.8% มูลค่าทั้งประเทศ 949,122 ล้านบาท ซึ่งธุรกรรมทางการค้าที่สำคัญคือ การค้าและค้าส่ง ซึ่งเป็นรากฐานของระบบการค้าแบบดั้งเดิม สินค้าสำคัญ เช่น สินค้าที่ใช้ประจำวัน เครื่องสำอาง เสื้อผ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า การค้าออนไลน์นี้มีผลกระทบต่อยอดจำหน่ายของธุรกิจแบบดั้งเดิมแล้ว ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับตัวอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการค้าแบบออนไลน์ว่า จ.เชียงใหม่ มีปริมาณมูลค่าการค้าเป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งหอการค้าฯ อยู่ระหว่างสร้างฐานข้อมูลด้านนี้ขึ้นมาโดยตรง ซึ่งจากตัวเลขนิติบุคคลที่จดทะเบียนค้าแบบออนไลน์ จะพบว่าภาคเหนือ ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่จะอยู่ใน จ.เชียงใหม่ มีนิติบุคคลมากเป็นอันดับ 3 รองลงมาจากกรุงเทพฯ และภาคกลาง โดยคาดว่ามูลค่าการค้าแบบออนไลน์ในภาคเหนือและเชียงใหม่จะมีมูลค่าสูงเช่นกัน ซึ่งสะท้อนว่าเครือข่ายเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ได้ปรับตัวไปแล้วมากพอสมควร

นางวิภาวัลย์กล่าวต่อว่า ด้วยแนวโน้มการเติบโตอี-คอมเมิร์ซ ที่มีอัตราการเติบโตสูงต่อเนื่อง หอการค้าเชียงใหม่จึงเตรียมแผนที่จะนำเศรษฐกิจดิจิทัลของ จ.เชียงใหม่ เชื่อมโยงการค้ากับตลาดจีน ผลักดันสินค้าเชื่อมกับ 11 เมืองของจีน ที่ปัจจุบันปรับเป็นด่านในรูปแบบ Cross Border E-Commerce เช่น เมืองเทียนจิน, เจิ้งโจว, เซี่ยงไฮ้, หางโจว, หนิงปัว, ฉงชิ่ง, ฝูโจว, ปิงตาน, กว่างโจว เซินเจิ้น และเฉินตู ซึ่งจะเป็นการขยายช่องทางการค้า และเพิ่มมูลค่าทางการค้าในธุรกิจกลุ่มนี้ของจังหวัดเชียงใหม่ได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต