4 จังหวัดลุ้น สนข.เคาะท่าเรือบก อีสานชูแพ็กคู่ “ขอนแก่น-โคราช” เชื่อม CLMV

หากพูดถึงโครงการภาครัฐเพื่อส่งเสริมโลจิสติกส์ นอกจากการสร้างมอเตอร์เวย์เพื่อเสริมความมั่นคงบนโครงข่ายระบบถนนแล้ว การจัดทำท่าเรือบก (dry port) เพื่อเชื่อมโยงสินค้า ทำพิธีทางศุลกากร ตลอดจนการสับเปลี่ยนหมุนเวียนรูปแบบการขนส่งเองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสามารถเชื่อมการขนส่งสินค้าจากแหล่งผลิตทางระบบรางสู่การส่งออกทางท่าเรือแหลมฉบัง และผ่านสู่ประเทศ CLMV สอดรับกับการเชื่อมโยงภูมิภาคตามนโยบาย One Belt One Road ของรัฐบาลจีน

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้เปิดเผยว่า โครงการศึกษาการจัดทำท่าเรือบกเพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระบบรางของภูมิภาคนั้น พบว่ามี 4 จังหวัดที่มีความเหมาะสม ได้แก่ 1.ฉะเชิงเทรา 2.ขอนแก่น 3.นครราชสีมา และ 4.นครสวรรค์ โดยยังอยู่ในขั้นตอนลงตรวจสอบพื้นที่จริงทั้ง 4 จังหวัด

ชี้ 2 หัวเมืองอีสานเหมาะสม

ทั้งนี้ “ยู เจียรยืนยงพงศ์” ประธานสหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกแห่งอาเซียน (ASEAN Trucking Federation) ผู้คว่ำหวอดในวงการโลจิสติกส์ ได้กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นครสวรรค์และฉะเชิงเทราไม่เหมาะแก่การเป็นท่าเรือบก เนื่องจากนครสวรรค์ไม่อยู่ในทำเลที่เหมาะสมจะเป็นจุดเชื่อมโยงสินค้า ไม่รายล้อมไปด้วยแหล่งผลิตเหมือนจังหวัดอื่น

ในขณะที่ฉะเชิงเทรามีระยะห่างจากท่าเรือแหลมฉบังไม่ถึง 100 กม. ทำให้การขนส่งมีความซ้ำซ้อน โดยต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากรถบรรทุกสู่การทำพิธีศุลกากรที่ฉะเชิงเทรา จากนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการย้ายสินค้าไปสู่เรือที่ท่าเรือแหลมฉบัง นอกจากนั้น รถบรรทุกที่มาจากทางภาคอีสานต้องวิ่งข้ามภูเขาผ่านเส้น 304 หรือปักธงชัย วังน้ำเขียว นาดี ซึ่งเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

ส่วนนครราชสีมาและขอนแก่นมีศักยภาพในการเป็นท่าเรือบกทั้งคู่ โดยหากเป็นไปได้ทั้ง 2 จังหวัดจำเป็นต้องมีท่าเรือบกด้วย ขอนแก่นนั้นจะเป็นการเชื่อมโยงกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และสามารถเชื่อมต่อทางระบบรางไปสู่เวียงจันทน์ สปป.ลาว และต่อไปถึงประเทศจีนได้ ขณะที่นครราชสีมามีศักยภาพในการเชื่อมภาคอีสานตอนใต้ อีกทั้งอุบลราชธานีเป็นแหล่งสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ รวมถึง สปป.ลาวตอนใต้ ซึ่งการจัดทำท่าเรือบกในทั้ง 2 จังหวัดไม่เพียงแต่ตอบสนองท่าเรือแหลมฉบัง แต่ยังเป็นการเชื่อมภูมิภาคในอนาคต 30 ปีข้างหน้า

หนุนขอนแก่นฮับระบบราง

“ทรงศักดิ์ ทองไทย” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ขอนแก่นเป็นจุดตัดของ west-east corridor และ north-south corridor ทำให้เหมาะสมจะเป็นศูนย์รวมโลจิสติกส์ของลุ่มแม่น้ำโขงและจัดตั้งท่าเรือบก สามารถทำพิธีการศุลกากรได้ มีการกำหนดจุดแล้วว่าเป็นบริเวณโนนพยอม มีเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ สามารถดำเนินการเฟสแรก 1,000 ไร่ เฟส 2 อีก 1,000 ไร่ รวมไปถึงมีบริษัทชิปปิ้งให้ความสนใจจะมาตั้งโกดังสินค้าอยู่ในบริเวณใกล้เคียง หากท่าเรือบกเกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าวจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการโรงงานได้เป็นอย่างดี เมื่อผลิตเสร็จจะสามารถส่งออกได้เลย เนื่องจากอยู่ในบริเวณโซนอุตสาหกรรม

“สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย” ผู้บริหาร บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการจัดทำคอนเทนเนอร์ยาร์ด หรือ CY ที่โนนพยอม รวมถึงมีการขยายช่องทางบริเวณตรงเขาปักษ์แล้ว ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอการผลักดันขอนแก่นสู่การเป็นโลจิสติกส์ฮับ โดยศักยภาพการจัดทำท่าเรือบกที่ขอนแก่นนั้น สามารถทำแลนด์บริดจ์สำหรับรถบรรทุกเหมือนที่ลาดกระบังได้

“สมศักดิ์ จังตระกูล” ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า นอกจากการเป็นท่าเรือบกแล้ว ขอนแก่นยังสามารถเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมระบบรางได้ เพราะอยู่กึ่งกลางของภาคอีสาน และมีโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากที่รองรับการเชื่อมโยงระบบราง ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคาย โครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กม. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 166 กม. โครงการรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 กม. โครงการศึกษาเส้นทางรถไฟนครสวรรค์-บ้านไผ่ สายใหม่ เชื่อมโยงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ระยะทาง 291 กม.

ศักยภาพโคราช เชื่อมแหลมฉบัง

ด้าน “ชัชวาล วงศ์จร” ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า นครราชสีมาเป็นเมืองใหญ่ มีศักยภาพสูง หากมีท่าเรือบกเกิดขึ้นจะทำให้ส่งผลดีต่อจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดในเขตภาคอีสาน เกิดความสะดวกในเรื่องของด่านศุลกากร การนำเข้าและส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ

ปัจจุบันผู้ประกอบการใช้บริการที่แหลมฉบังและลาดกระบัง ซึ่งเกิดความล่าช้าในการตรวจศุลกากร หากมีท่าเรือบกเกิดขึ้นจะทำให้เกิดความสะดวกสบาย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ประกอบการในภาคอีสาน ทั้งนี้ หากมีความเป็นไปได้อีสานตอนบนควรมีท่าเรือบกเพิ่มอีกแห่งที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นการส่งเสริมการกระจายสินค้า

ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีบริษัทที่ส่งออกสินค้าเป็นจำนวนมาก สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่กำลังดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมต่าง ๆ มายังจังหวัดนครราชสีมา ทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และการเปิดเส้นทางการบินเชื่อมโยงต่างประเทศ

โดยทำเลที่เหมาะสมในการก่อสร้างท่าเรือบกคือ บริเวณ ต.หนองน้ำขุ่น อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งมีพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ เป็นจุดที่เป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมที่สามารถเชื่อมโยงไปหลายจังหวัด ทั้งยังเป็นพื้นที่สูง น้ำไม่ท่วม สามารถเชื่อมต่อเส้นทางได้ทั้งทางบก ทางราง และทางอากาศ

ในขณะที่ “หัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เผยว่า หากมีการจัดทำท่าเรือบกขึ้นที่โคราชจะเป็นผลดีอย่างยิ่งกับผู้ประกอบการในภาคอีสาน เนื่องจากจะสามารถลดต้นทุนการขนส่ง ทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ซึ่งโคราชมีปริมาณการขนส่งสินค้าส่งออกต่อปีมากกว่า 100,000 ตู้

อย่างไรก็ตาม พื้นที่จุดในการก่อสร้างท่าเรือบกนั้นยังไม่แน่ชัดว่า สนข.คัดเลือกพื้นที่จุดใด หากมีการเสนอทั้งขอนแก่นและนครราชสีมา จำเป็นต้องดูปัจจัยประกอบที่เหมาะสม รวมถึงปริมาณความต้องการใช้ของผู้ประกอบการในภาคอีสานว่ามีมากเพียงพอหรือไม่