ทรงศักดิ์ ทองไทย เศรษฐกิจโลกระส่ำ อุตฯขอนแก่นชะลอลงทุน

ขอนแก่น-ทรงศักดิ์ ทองไทย

สัมภาษณ์

ขอนแก่น ถือเป็นจังหวัดหัวเมืองใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความเจริญในฐานะเมืองเพื่อการอยู่อาศัย และการลงทุนของอุตสาหกรรม ตลอดจนการเป็นต้นทางไอเดียสมาร์ทบัสในเขตภูธร ซึ่งหลายจังหวัดใช้เป็นแบบอย่าง ทั้งเชียงใหม่ ภูเก็ต และนนทบุรี “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ทรงศักดิ์ ทองไทย” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้เปิดภาพกว้างการลงทุนด้านอุตสาหกรรม และการผสานตัวของภาคอุตสาหกรรมกับภาคส่วนอื่นในจังหวัด ทั้งการศึกษาและสิ่งแวดล้อมอย่างน่าสนใจ

โดย “ทรงศักดิ์” กล่าวว่า ทิศทางของอุตสาหกรรมในจังหวัดขอนแก่นไปได้ดี มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 3-4% ต่อปี โดยอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนตัวเลขทางเศรษฐกิจมีหลากหลายประเภทไม่อิงด้านใดด้านหนึ่ง ทั้งน้ำตาล ข้าว แป้งมัน เยื่อกระดาษ ชิ้นส่วนแม็กเนติก (magnetic) ของบริษัท พานาโซนิค และโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าซึ่งรับจ้างผลิตให้แบรนด์ใหญ่ เช่น Nike และ adidas รวมถึงธุรกิจของนายทุนท้องถิ่นอย่างบริษัท ขอนแก่นแหอวน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) เป็นต้น 

ทว่าในปี 2561 ตั้งแต่ไตรมาส 3 การลงทุนในขอนแก่นยังคงอยู่ในช่วงดูท่าที เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงการให้สิทธิประโยชน์ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาล

และการปรับแก้ผังเมืองของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่นกำลังรวบรวมเพื่อเสนอต่อจังหวัด รวมแล้วคาดการณ์ว่าการลงทุนจะขยายตัวไม่เกิน 5%

สำหรับทำเลอุตสาหกรรมจะกระจุกตัวที่บริเวณอำเภอน้ำพองซึ่งเป็นพื้นที่สีม่วง โดยมีจุดเด่นคือเป็นแหล่งต้นน้ำ มีทรัพยากรน้ำอุดมสมบูรณ์ ทำให้ที่ผ่านมารัฐบาลร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีแนวทางให้เป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งในปัจจุบันมีโรงงานหลายแห่งที่อยู่ในระดับ zero discharge หรือการที่ขั้นตอนสุดท้ายของโรงงานอุตสาหกรรมไม่มีของเสียออกมาสู่สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงขอความร่วมมือให้โรงงานอุตสาหกรรมไม่ปล่อยน้ำที่ผ่านกระบวนการกลับสู่แม่น้ำลำคลอง แต่ให้นำกลับมารีไซเคิลเพื่อใช้ในโรงงานให้ได้มากที่สุด จนถึงการนำไปใช้รดน้ำต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวในโรงงาน

นอกจากนี้ในปัจจุบันสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ยังมีแนวทางในการพัฒนาบุคลากรเพื่อตอบสนองต่ออุตสาหกรรม โดยได้จัดให้มีการลงบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างสภาอุตสาหกรรม กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในขอนแก่น แบ่งเป็นมหาวิทยาลัย 5 แห่ง วิทยาลัยเทคนิคกว่า 10 แห่ง โดยอิงกับระบบการศึกษาแบบประเทศเยอรมนี ซึ่งภาคการศึกษาต้องผ่านการดูแลของสภาอุตสาหกรรมในการจัดทำหลักสูตร รวมถึงการเลือกผลิตนักศึกษาในแต่ละสาขา กล่าวคือ โรงงานต้องการคนเท่าไร ต้องส่งมาที่สภาอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมจะร่วมกับสถานศึกษาในการผลิต ให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ

“การผลิตคนต้องตอบสนองกับภาคอุตสาหกรรม ทำให้ผลผลิตด้านทรัพยากรบุคคลไม่เสียเปล่า เพราะการสร้างวิศวกรใช้งบประมาณประเทศสนับสนุนประมาณ 5,000,000-6,000,000 บาท/คน

หากผลิตออกมาไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย อยู่นอกเขตจังหวัดที่ต้องการ ก็เสียเปล่า รวมถึงใช้เวลาผลิตอีก 2-3 ปี ทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปได้ช้า โดยระบบนี้เรียกว่าเทลเลอร์เมด หรือการเรียนโฟกัสเฉพาะอย่าง

เช่น ต้องการเรียนเกี่ยวกับรีฟิวส์ ก็จะรู้อย่างอื่นแค่หลักการ แต่ต้องเรียนเข้มข้นเฉพาะที่เป็นหลัก 2 ปีเรียนมหาวิทยาลัย อีก 2 ปีอยู่ในโรงงาน จบมาได้วุฒิวิศวกรเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทำงานได้เลย”

ทั้งนี้ขอนแก่นมีจุดที่ได้เปรียบสำคัญ คือ เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ เนื่องจากเดินทางสะดวก และมีเที่ยวบินตรงเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งเชียงใหม่ สงขลา ภูเก็ต รวมถึงเป็นเมืองหลักของภาคอีสานที่มีการบริโภคจากภาคส่วนของภาคบริการผ่านการเป็นไมซ์ซิตี้ ทำให้มีการจัดประชุมสัมมนาที่เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัด และกลุ่มจังหวัดด้วย