“วุฒิพงศ์” ประธานหอการค้าตราด นำระบบสหกรณ์พัฒนา Thai Gap

สัมภาษณ์

เป็นวาระที่น่ายินดี สำหรับเก้าอี้ประธานหอการค้าจังหวัดตราดที่ได้ต้อนรับ “วุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์” เข้ามานั่งในตำแหน่งคนล่าสุด วาระปี 2560-2561 ข้อมูลพื้นฐานระบุว่าประธานหอใหม่หมาดคนนี้มีสายเลือดเกษตรกรเต็มตัว จึงมีนโยบายชัดเจนในการขับเคลื่อนภาคเกษตร ซึ่งเป็น 1 ในเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจจังหวัดตราด

แบ็กกราวนด์ด้านการเกษตรไม่ธรรมดา วุฒิพงศ์ จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นเจ้าของสวนผลไม้ขนาดใหญ่ เป็นประธานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออก จังหวัดตราด จำกัด อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด และมีตำแหน่งรองประธานกรรมการหอการค้าด้านเกษตรกรรมสมัยที่ผ่านมา

ด้วยองค์ความรู้และประสบการณ์ที่คลุกคลีมากับแวดวงผลไม้ เป็นทั้งเกษตรกรเจ้าของสวน พ่อค้าที่รับซื้อวัตถุดิบจากชาวสวน และตัวแทนเกษตรขายสินค้าทั้งภายในและต่างประเทศทำให้เข้าใจภาพรวมทั้งหมด

เมื่อขึ้นสู่ตำแหน่งเป็นช่วงฤดูกาลผลไม้หลัก ประสบทั้งปัญหาทุเรียนอ่อน เงาะ มังคุดราคาตกต่ำ “วุฒิพงศ์” ประกาศเดินหน้าเชิงรุกงานแรกของประธานหอการค้าจังหวัด ด้วยการแก้ปัญหาตลาดผลไม้ และราคาตกต่ำอย่างยั่งยืน ไม่ให้เกิดเป็นวงจรซ้ำอีก โดยยืนหยัดในหลักการว่าเกษตรกรต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงควบคู่กับการสร้างระบบสหกรณ์ที่เข้มแข็ง

“ประชาชาติธุรกิจ” จับเข่าคุยถึงทิศทางการแก้ปัญหา และการพัฒนาทำอย่างไรให้ชาวสวนผลไม้อยู่ดีกินดีกันอย่างทั่วถึง

วุฒิพงศ์อธิบายถึงสถานการณ์ผลไม้จังหวัดตราดว่า ปีนี้ผลผลิตทุเรียน เงาะ มังคุดของจังหวัดตราดเป็นไปในทิศทางดี ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 36 แต่ไม่มีปัญหาเรื่องตลาดและราคา โดยเฉพาะทุเรียนราคาโดยเฉลี่ยกิโลกรัมละ 80-100 บาท ส่วนเงาะมีปัญหาในช่วงสั้น ๆ ที่ผลผลิตล้นตลาด และราคาตกต่ำ ราคากิโลกรัมละ 12-13 บาท แต่ในช่วงต้นฤดูได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 50-60 บาท และช่วงสิ้นสุดฤดูกาลราคายังสูงถึงกิโลกรัมละ 18-20 บาท ส่วนมังคุดในช่วงต้นฤดูเดือนเมษายน มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 200-240 บาท แล้วราคาลดลงมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีปัญหาช่วงต้นเดือนกรกฎาคมราคาตกต่ำถึงกิโลกรัมละ 8-10 บาท ทำให้ชาวสวนรวมตัวกันมาขอให้หน่วยงานภาครัฐหาทางช่วยเหลือ

วุฒิพงศ์บอกว่า ในอดีตเมื่อราคาผลไม้ตกต่ำเกษตรกรกลับรอแต่ความช่วยเหลือจากภาครัฐ การสนับสนุนของรัฐทั้งทางตรง ทางอ้อม ซึ่งทำให้เกษตรกรอ่อนแอ หอการค้าจึงมีแนวทางการแก้ปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำอย่างครบวงจร ได้นำเสนอโครงการพัฒนาสินค้าเกษตร Thai Gap โดยระบบสหกรณ์ แล้วให้หอการค้าแห่งประเทศไทยรับเป็นยุทธศาสตร์ของจังหวัด กลุ่มจังหวัด พัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรให้มีความทันสมัย และเป็นสากล เพื่อเป็นฐานการผลิตและจำหน่ายเพื่อการส่งออก โดยภาคเอกชนจะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐหลัก ๆ คือ สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานสหกรณ์จังหวัด และหอการค้าภาคตะวันออก โดยจะดำเนินการแนวทางเดียวกันในปีนี้พร้อมกัน 4 จังหวัด คือ ระยอง จันทบุรี สระแก้ว ตราด

“ขณะนี้ได้เสนอแนวทางพัฒนาสินค้า Thai Gap ด้วยระบบสหกรณ์ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดได้หาทางออกช่วยเหลือร่วมกับเกษตรกรและภาคเอกชนแล้ว โดยหอการค้าจะเป็นหัวหอกขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างจริงจัง และควรเป็นแผนเชิงรุกต้องรีบดำเนินทันทีในปี 2560-61 เพื่อเตรียมแผนรองรับความเสี่ยงไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นเป็นวงจรซ้ำ ๆ ของผลไม้ทุก ๆ ปี จากเคสตัวอย่างมังคุดที่เกิดขึ้นในปีนี้ เป้าหมาย คือ เน้นปัญหาและการพัฒนา 2 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ เกษตรกร และการพัฒนาระบบสหกรณ์”

นอกจากการพัฒนาระบบแล้ว ตัวเกษตรกรเองก็ต้องทำคุณภาพ ยกระดับมาตรฐานของผลไม้ สวนของสมาชิกต้องได้การรับรองมาตรฐาน GAP และต้องรวมกลุ่มกันในระบบสหกรณ์ให้มีผลผลิตจำนวนมาก เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองของตลาดผู้ส่งออก และขายผ่านระบบสหกรณ์

ส่วนระบบสหกรณ์ สหกรณ์จะเป็นจุดรวบรวมสินค้า และขายให้ผู้ส่งออก ภาครัฐต้องสนับสนุนด้านเงินทุนโดยเฉพาะสหกรณ์ที่มีขนาดเล็ก สหกรณ์มีระบบการจัดการและรับรองผลผลิตได้มาตรฐานสร้างแบรนด์ของตัวเองให้ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เพื่อความรวดเร็วในการขนส่งไปตลาดต่างประเทศ เพราะผลไม้บางอย่าง

เสียหายง่าย และอนาคตควรสนับสนุนให้สหกรณ์เป็นผู้ส่งออกได้บ้าง เพราะต้องยอมรับเทคนิคการค้าขายไม่สามารถแข่งขันกับผู้ค้า ผู้ส่งออกมืออาชีพได้ โดยตั้งเป้าหมายว่าปี 2561 สหกรณ์ในจังหวัดตราดจะรับซื้อผลไม้ได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10%

เป็นวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในแง่มุมของการเกษตรสำหรับผู้นำภาคเอกชนคนใหม่ ก่อนจะส่งท้ายว่าไม่เพียงแค่เกษตร เพราะในแฟ้มเอกสารยังมีอีกหลายเรื่อง หลายวาระที่ต้องเร่งมือกันต่อ