“เชียงราย”เชื่อมสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้อง จีน-เมียนมา-สปป.ลาว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในปัจจุบันกระทรวงมหาดไทย ได้ตั้งคณะทำงานดำเนินการความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง (Sister City) จ.เชียงราย ขึ้นโดยมีนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานและมีกรรมการเป็นหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องครัน โดยคณะทำงานได้มีการประชุมหารือและจัดเตรียมความพร้อมเพื่อประสานกับประเทศเพื่อนบ้านในการจะสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่าง จ.เชียงราย กับเมืองหรือเขตการปกครองในประเทศที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน ล่าสุดได้มีการสรุปผลว่าที่ผ่านมา จ.เชียงราย เคยมีการสถาปนาความเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับระดับมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ไปแล้วดังนั้นจึงยังคงเหลือแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว และรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งปัจจุบันมีความสัมพันธ์ทางการค้าและอื่นๆ ผ่านคณะกรรมการชายแดนร่วมกันอยู่แล้วดังนั้นควรมีการสถาปนาความสัมพันธ์ป็นบ้านพี่เมืองน้องร่วมกันต่อไป

นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมการสถาปนากับเมืองกุนมะ ประเทศญี่ปุ่น เพราะมีความสัมพันธ์เนื่องจากเคยมีการนำดอกซากุระมาปลูกเชื่อมความสัมพันธ์ที่ จ.เชียงราย มาแล้ว ทั้งนี้ที่ประชุมแจ้งว่าการทำความร่วมมือดังกล่าวควรเร่งโดยเร็วโดยเน้นประเทศที่อยู่ใกล้ก่อนเพื่อให้ทันการตระเวนพบปะประเทศเพื่อนบ้านของนายกรัฐมนตรีในโอกาสที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเร็วๆ นี้

น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และกรรมการคณะทำงานฯ กล่าวว่าปัจจุบัน จ.เชียงราย ได้เร่งรัดการฟื้นฟูการสถาปนาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยมีการศึกษาข้อมูลกันใหม่หมดและมีตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมด้วย ในอนาคตอาจจะมีคณะกรรมการประสานงานชายแดนไทย-เมียนมาระดับท้องถิ่นหรือทีบีซีเข้าร่วมด้วย ผลสรุปการหารือคือจะมีการสถาปนาความเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับรัฐฉาน ประเทศเมียนมา แทนการทำข้อตกลงเฉพาะกับ จ.ท่าขี้เหล็ก ที่อยู่ติดกับ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพียงเมืองเดียว เนื่องจากท่าขี้เหล็กขึ้นตรงการบริหารกับเมืองเชียงตุงที่เป็นเมืองใหญ่ และในรัฐฉานก็ขึ้นตรงกับการบริหารของรัฐบาลท้องถิ่นที่มีเมืองตองจีเป็นเมืองเอกของรัฐด้วย ดังนั้นอำนาจการตัดสินใจในหลายๆ เรื่องจึงอยู่ที่เมืองตองจี ทำให้การสถาปนากับรัฐฉานจะทำให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายมากกว่า

สำหรับกรณีแขวงบ่อแก้วนั้นจะเปลี่ยนชื่อจากการสถาปนาเป็นเมืองพี่เมืองน้องเป็น “เมืองคู่มิตร” เพื่อแสดงถึงความเท่าเทียมและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งกรณีของแขวงบ่อแก้วถือว่าอำนาจการบริหารภายในแขวงนั้นสามารถตัดสินใจดำเนินการได้หลายเรื่อง จึงไม่มีความซับซ้อนเหมือนในเมียนมา ส่วนกรณีของเมืองกุนมะนั้นจะมีการศึกษารายละเอียดว่าจะมีความสัมพันธ์เพิ่มเติมด้านใดอีกบ้างเมื่อมีการลงนามกันแล้วต่อไป

“การลงนามกับรัฐฉานมีความสำคัญมากเพราะรัฐฉานมีจุดผ่านแดนถาวรทั้งรัฐเพียง 1 จุดเท่านั้นคือระหว่างท่าขี้เหล็กกับ อ.แม่สาย จ.เชียงราย แม้แต่ที่ชายแดนเมียนมา-จีน ระหว่างเมืองมูเซของเมียนมาและเมืองรุ่ยลี่ของจีนก็เป็นเพียงจุดผ่านแดนเท่านั้น ส่วนแนวโน้มที่จะเปิดจุดอื่นๆ ก็ยากเพราะหลายพื้นที่อยู่ในเขตอิทธิพลของชนกลุ่มน้อย รัฐฉานยังมีเมืองท่าในแม่น้ำโขงติดต่อกับ สปป.ลาว มีสะพานเชื่อมเมียนมา-สปป.ลาว ที่เมืองเชียงลาบ สามารถเชื่อมไปจีนได้ ถนนอาร์สามบีก็เชื่อมไทย-เมียนมา-จีน จึงถือว่ามีความเหมาะสมที่สุด” น.ส.ผกายมาศกล่าว

ทั้งนี้ เนื้อหาการสถาปนาความสัมพันธ์จะเน้นเรื่องเศรษฐกิจ ความมั่นคงและสังคมโดยในส่วนของ จ.เชียงราย คงจะมีการนำกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 คือเชียงราย พะเยา แพร่และน่าน เข้ามาร่วมด้วยต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่าปัจจุบัน จ.เชียงราย และรัฐฉาน มีความสัมพันธ์กันผ่านจุดผ่านแดนแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก โดยปีงบประมาณ 2561 จังหวัดเชียงรายมีมูลค่าการค้ากับ จ.ท่าขี้เหล็ก ของรัฐฉานเป็นมูลค่ารวม 9,876,728,160.07 บาท แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 9,578,763,853.09 บาท และนำเข้ามูลค่า 297,964,306.98 บาท การค้าส่วนใหญ่เป็นการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค เชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ จากประเทศไทย