แกนนำยางพบผู้ว่าฯเมืองคอน สะท้อนความเดือดร้อน ชี้ไม่มั่นใจการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ที่ห้องปฏิบัติงานของผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยแห่งประเทศไทย นายเรืองยศ เพ็งสกุล นายทวี ขวัญศรีสุทธิ์ และนายปุณยวัจน์ ชูแก้ว แกนนำชาวสวนยางรายย่อย ได้เข้าพบกับนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ตามคำเชิญเพื่อหารือ โดยได้ปิดห้องหารือเป็นการภายใน ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าร่วมรับฟัง ก่อนที่จะเปิดเผยข้อมูลในภายหลัง

ทั้งนี้สืบเนื่องจากเกษตรกรชาวสวนยางพาราได้ออกเคลื่อนไหว ใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ขับขี่ไปบนถนนสาย 41 มุ่งหน้าไปยังสหกรณ์โคออปจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่หลังจากสถานการณ์เริ่มไม่น่าไว้วางใจ รวมทั้งมีความพยายามในการสอดแทรกเข้ามาของบางฝ่าย อาจทำให้สถานการณ์ลุกลาม เกษตรกรจึงตัดสินใจประกาศเจตนารมณ์ในการเคลื่อนไหวบริเวณถนนสาย 41 ช่วงใกล้แยกเวียงสระ อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561

โดยนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวของชาวสวนยางวานนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณความเดือดร้อนของชาวสวนยางไปยังรัฐบาล ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประสานโดยตรงถึงมาตรการที่รัฐบาลเตรียมการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในการเข้าแทรกแซง ซึ่งทางแกนนำได้เข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรในวันนี้ (16 พ.ย.61) เพื่อเสนอแนะแนวทางเพิ่มเติม

ขณะที่นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางพารารายย่อย เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวไม่มีข้อเรียกร้องใดๆ เพราะข้อเรียกร้องนั้นถูกเสนอมาโดยตลอดแต่เงียบหายไป การขับรถขึ้นบนถนนเป็นการประจานความยากจนและเดือดร้อนของชาวสวนยาง ไม่มีการเมืองใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ไม่แสวงหาการเข้าไปพบกับผู้มีอำนาจ แต่เป็นการประสานมาโดยตรงเพื่อขอเชิญให้พวกเกษตรกรเข้าไปให้ข้อมูลข้อเสนอ

“ในการเดินทางไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรนั้น จะไม่คัดค้านข้อเสนอในการแก้ปัญหาของรัฐ แต่จะมีข้อเสนอในวิธีการของเกษตรกร วิธีคิดที่ตอบโจทย์การแก้ไข ถามว่ามั่นใจการแก้ปัญหาของรัฐบาลหรือไม่ ตอบเลยว่าไม่มั่นใจ เพราะทุกครั้งเราสะท้อนปัญหาจะกลับรูปเดิม ฮือฮากันเป็นครั้งคราวแล้วก็ราคาดิ่งลงตลอด ราคาที่เป็นต้นทุนการผลิตยางแผ่นดิบต่อ 1 กิโลกรัม คือ 63 บาท ซึ่งเป็นราคาที่มีการศึกษาวิเคราะห์คำนวณต้นทุนการผลิตที่แท้จริง”


นายมนัสกล่าวว่า ราคารับซื้อจึงไม่ควรที่จะต่ำกว่านี้ ส่วนปัญหาหลักใหญ่ที่ทำให้เกษตรกรถูกควบคุมราคาจากตลาดกลางได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในอีกมิติหนึ่งพบว่า ระบบการผลิตยางแผ่นเดิมแบบครัวเรือน และกงสีเก็บยางแผ่นแบบครัวเรือนไม่เหลืออยู่ในชุมชนเกษตรกรชาวสวนยางแล้ว ตลาดได้บังคับวิธีการผลิต ทำให้เกษตรกรอยู่ในฐานะผู้ผลิตน้ำยางสดเท่านั้น ไม่สามารรถเก็บผลผลิตไว้ได้ อำนาจในการควบคุมราคาจึงอยู่ที่ทุนขนาดใหญ่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ