ประชารัฐตรังชู “เกาะลิบง” ทำ SWOT ดันศักยภาพหนึ่งเดียวในไทย

เกาะลิบง-ตรัง

“ตรัง” นับเป็นจังหวัดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีพื้นที่ติดชายฝั่งกว่า 119 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังมีเกาะแก่งหลายแห่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว หนึ่งในนั้นคือ “เกาะลิบง” มีขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัด อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ บ้านเจ้าใหม่ เพียง 2 กิโลเมตร การเข้าถึงสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เป็นสถานที่ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์บันทึกเรื่องราวนับ 200 ปี มี Libong Geopark คือ มีบ่อน้ำจืดกลางทะเล สะพานหินธรรมชาติ และซากฟอสซิล สุสานหอย โดยได้มีการลงพื้นที่ศึกษาการวิเคราะห์ SWOT โดยทีมงานบริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด

“ลือพงษ์ อ๋องเจริญ” กรรมการผู้จัดการ (MD) บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตรัง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ผู้นำในการศึกษา SWOT ของเกาะลิบง พบว่า เกาะลิบงมีจุดแข็ง (strength) คือ ทำเลที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำกันตัง เป็นบริเวณที่มีการผสมกันระหว่างน้ำจืดและน้ำเค็ม ทำให้เกิดพื้นที่ที่เรียกว่า “ชะวากทะเล” (estuary) รอบบริเวณที่อุดมไปด้วยธาตุอาหารจำนวนมาก และเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด จนได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่แรมซาร์ไซต์ (Ramsar site) หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ มีความหลากหลายทางชีวภาพ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำและนกนานาชนิด ซึ่งผลการศึกษาเกาะลิบงมีดังนี้

เป็นแหล่งหญ้าทะเล (seaglasses) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ 12,170 ไร่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำขนาดใหญ่ อันได้แก่ พะยูน และเต่าทะเล ทั้งนี้ “พะยูนฝูงใหญ่” ฝูงสุดท้ายในประเทศไทยอยู่ที่เกาะลิบง มีจำนวน 125 ตัว นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งนกอพยพจากไซบีเรีย ที่บินหนีหนาวเข้ามาอาศัยที่แหลมจุโหยนับแสนตัว ทำให้เกาะลิบงเป็น 1 ใน 16 เส้นทางนกอพยพของโลก

โดยตำบลเกาะลิบง ประกอบด้วย เกาะลิบง เกาะมุก เกาะกระดาน และหาดเจ้าไหม ล้วนมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวทางทะเล มีความมั่นคงทางด้านอาหารทะเล อุดมไปด้วยสัตว์น้ำทางเศรษฐกิจ เช่น ปลาอินทรีย์ ปลาเก๋า ปลาสาก หมึกหอม หอยชักตีน และปูม้า ซึ่งชาวประมงพื้นบ้านสามารถหามาจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี

มีจุดอ่อน (weakness) คือ ในชุมชนยังไม่มีการวางแผนในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เมื่อถึงฤดูแล้งหลายหมู่บ้านขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค ยังไม่มีการวางแผนการวางระบบการกำจัดขยะและน้ำเสียจากโรงงานน้ำยางข้น ส่งผลให้เกิดมลพิษทางน้ำและทางอากาศ โครงสร้างพื้นฐานบนเกาะยังไม่ได้รับการพัฒนาตามมาตรฐาน เช่น สะพานท่าเทียบเรือ สะพานเชื่อมไปยังจุดชม “พะยูน” ถนนที่เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น รวมถึงการจ่ายกระแสไฟฟ้าทางสายเคเบิลใต้น้ำ มายังเกาะลิบงกำลังโหลดต่ำ จาก 220 โวลต์ เหลือเพียง 180 โวลต์ และยังไม่มีไฟฟ้าสำรอง เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต และชุมชนเป็นอย่างมาก

ชาวชุมชนบนเกาะประกอบอาชีพทำสวนยางพาราและทำการประมงพื้นบ้าน เป็นการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ไม่มีแนวคิดที่จะเปลี่ยน เป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงทำให้เกิดการขาดภูมิคุ้มกันในการพึ่งตนเอง นอกจากนี้ มีการทำประมงผิดกฎหมายหรือผิดประเภท ส่งผลให้พะยูน สัตว์น้ำวัยอ่อน และแหล่งหญ้าทะเล ถูกทำลาย มีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และการแผ้วถางเพื่อทำสวนยางพารา

เกาะลิบง-ตรัง

สำหรับด้านโอกาส (opportunity) แบ่งเป็นโอกาสในระดับมหภาค ประกอบด้วย นโยบายของรัฐบาล สานพลังประชารัฐพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2560-2564 ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การบริหารจัดการน้ำ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่ 4 การส่งเสริมการผลิต และบริโภค ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่ 5 การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาระบบบริหารจัดการและองค์กรและโอกาสในระดับจุลภาคนั้น อยู่ในระดับจังหวัด คือ บริษัทประชารัฐรักสามัคคีประจำจังหวัด คณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.ประจำจังหวัด) และคณะทำงานด้านต่าง ๆ ที่จังหวัดแต่งตั้ง เพื่อสนับสนุนภารกิจของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีประจำจังหวัด

โดยมีกระบวนการขับเคลื่อนจากล่างขึ้นบน (bottom-up) ผ่านกลไก 5 ฟันเฟืองในการพัฒนา คือ การเข้าถึงปัจจัยการผลิต การสร้างองค์ความรู้ การตลาด การสื่อสารเพื่อการรับรู้ และการบริหารจัดการ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย 5 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม

ด้านอุปสรรค (threat) ที่สำคัญ คือ กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดตรัง พ.ศ. 2558 ข้อ 12 วรรค 2 ที่กำหนดให้ที่ดินของเอกชนเป็นเจ้าของ หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้ใช้เพื่อการเกษตร และการอยู่อาศัย ไม่เกิน 100 ตารางเมตร ความสูงไม่เกิน 6 เมตร ซึ่งเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ในภารกิจด้านการเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตลอดจนเป็นอุปสรรคในด้านการลงทุนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดตรังยังซบเซา รายได้ต่อหัว/ต่อปีของคนในจังหวัดตรังเพียง 107,000 บาท จากการวิเคราะห์ SWOT ของตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ดังที่กล่าวมา น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาเกาะลิบงให้เป็นเกาะที่มีความเจริญในทิศทางที่น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด