“เทรดเดอร์ 77จังหวัด” รุกตลาดใหม่ เปิดร้านโอท็อปไลฟ์สไตล์-ลุยอีคอมเมิร์ซบุกต่างประเทศ

พัฒนาชุมชนชู 4 แนวทางยกเครื่องผลิตภัณฑ์โอท็อป “สตอรี่-ดีไซน์-มาตรฐาน-อีคอมเมิร์ซ” หวังปลุกเศรษฐกิจฐานราก หนุนตั้งเทรดเดอร์ 77 จังหวัดปิดจุดอ่อนการตลาด ผนึกกำลังสร้างแบรนด์ “โอท็อปไลฟ์สไตล์” ทั่วประเทศ 30 แห่งภายในสิ้นปีนี้ พร้อมส่ง “โอท็อปเอาท์เลต” ลุยตลาดต่างประเทศ จับมือลาซาด้า ไทยแลนด์มอลล์ ญี่ปุ่นเปิดตลาดออนไลน์ เทรดเดอร์แก้ปมสินค้าไม่มีตลาด

นายณรงค์ บุ่ยศิริรักษ์ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิต/ ผู้ประกอบการโอท็อปประมาณ 40,000 กว่าราย มีสินค้าที่ขึ้นทะเบียนโอท็อป 83,000 รายการ ซึ่งแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยสินค้าที่ได้ดาวตั้งแต่ 1-5 ดาว มีเพียง 15,000 รายการเท่านั้น ซึ่งสินค้าจำนวนนี้สามารถทำการตลาดได้

ขณะที่สินค้า 1-2 ดาวบางรายการ หรือที่ไม่มีดาว สามารถทำตลาดได้ยาก เนื่องจากหลายปัจจัย ได้แก่ ความไม่พร้อมของผู้ผลิต มาตรฐานของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น หากปล่อยให้ 60,000 กว่าผลิตภัณฑ์ ยังขายได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็จะสะท้อนว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากยังไม่สมบูรณ์ตามนโยบายของรัฐบาล

ขณะเดียวกันนับเป็นโจทย์หนึ่งที่กรมการพัฒนาชุมชนกำลังคิดแก้ปัญหาผลิตมาแล้วขายที่ไหน โดยมองว่าสิ่งที่จะมาช่วยตอบโจทย์ได้ คือ เทรดเดอร์ (Trader) ที่เป็นทั้งหลงจู๊ ทำหน้าที่ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตที่ไม่มีศักยภาพทางด้านการตลาด นำออกไปสู่ตลาด และเป็นตัวกลาง ทำหน้าที่กระจายหรือจำหน่ายสินค้าออกไปยังตลาดต่าง ๆ เป็นเสมือนตัวเชื่อมระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมถึงการเข้าไปช่วยเหลือพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ซึ่งได้มีการจัดตั้งบริษัท โอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นเป็นบริษัทแม่

ขณะเดียวกันปัจจุบันมีการจัดตั้งโอท็อปเทรดเดอร์ครบทั้ง 77 จังหวัดแล้ว จังหวัดละ 1 แห่ง โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประมาณ 45 แห่ง ส่วนที่เหลืออีกกว่า 20 แห่ง จะพัฒนาความพร้อมขึ้นไปเพื่อให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลได้ครบทั้งหมดในปี 2561 เนื่องจากการเป็นนิติบุคคล จะช่วยให้เข้าถึงนิติสัญญาต่าง ๆ ในเชิงธุรกิจได้ทั้งหมด เช่น ใบกำกับภาษี ซึ่งพัฒนาการจังหวัดจะทำหน้าควบคุมดูแลเทรดเดอร์

ลุย 4 แนวทางยกระดับโอท็อป

นายณรงค์กล่าวว่า ปี 2560 กรมการพัฒนาชุมชนได้กำหนดแนวทาง 4 เรื่อง ที่สอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 ในการพัฒนาสินค้าสินค้าให้เทรดเดอร์นำไปทำการตลาดต่อ คือ 1.สตอรี่ มุ่งเน้นให้ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการใส่ใจในการสร้างเรื่องเล่าของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ให้สอดคล้องกับภูมิปัญญาและวิถีชีวิต 2.ดีไซน์ ต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า เช่น ลูกค้า สปป.ลาว นิยมซื้อสินค้าแบบ 3 กล่อง 100 บาท

3.ใบรับรองคุณภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และสร้างการยอมรับให้กับผู้บริโภค เช่น หมวดอาหาร จะต้องได้มาตรฐาน อย. หรือใบรับรองจากสถาบันอาหาร เป็นต้น 4.อีคอมเมิร์ซ เป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายในระบบออนไลน์ โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ทำเอ็มโอยูกับหลายภาคส่วน ได้แก่ ลาซาด้า ไทยแลนด์มอลล์ และได้จับมือกับญี่ปุ่นเปิดช่องทางใหม่ OTOPTHAI.SHOP ซึ่งได้เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2560

“จุดอ่อนอยู่ที่ผู้ผลิตไม่สามารถที่จะอัพโหลดสินค้าเข้าสู่ระบบได้ ตอนนี้ พช.ได้ร่วมกับลาซาด้าให้ความรู้แก่เทรดเดอร์ทั้ง 76 จังหวัด และผู้ผลิต/ผู้ประกอบการที่เราพิจารณาดูแล้วว่ามีศักยภาพ เช่น ศิลปินโอท็อป โอท็อปขึ้นเครื่อง เป็นต้น ในการนำเอาสินค้าขึ้นระบบ ซึ่งจะดำเนินการภายในเดือนกันยายนนี้ทั้งหมด 6 รุ่น”

เพิ่มตลาด – กรมการพัฒนาชุมชนหนุนตั้งเทรดเดอร์ครบ 77 จังหวัดแก้ปัญหาการตลาดสินค้า โอท็อป พร้อมขยายร้านโอท็อปไลฟ์สไตล์ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นร้านกาแฟที่มีสินค้าโอท็อปจำหน่าย คาดว่าภายในปี 2560 จะมีจัดตั้งกว่า 30 แห่ง


ลุยโอท็อปไลฟ์สไตล์ 30 แห่ง

สำหรับการสร้างแบรนด์สินค้าโอท็อปนั้น ปัจจุบันมีรูปแบบร้านค้า 2 สไตล์ ได้แก่ 1.โอท็อปไลฟ์สไตล์ เป็นลักษณะของร้านกาแฟ ที่มีสินค้าโอท็อปจำหน่ายด้วย เปิดบริการไปแล้ว 2-3 แห่งที่จังหวัดกาญจนบุรี จันทบุรี คาดว่าภายในปี 2560 จะมีโอท็อปไลฟ์สไตล์กว่า 30 แห่ง และ 2.โอท็อปเอาท์เลต ลักษณะเป็นมินิมาร์ทโอท็อปกระจายอยู่ทั่วประเทศเพื่อสร้างความจดจำ โดยจะขายแฟรนไชส์ 3 ขนาด คือ ขนาด S M และ L

ต่างประเทศตอบรับดี

นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ ประธาน บริษัท โอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดของโอท็อปเทรดเดอร์ คือการสู่ระบบการตลาดให้ได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ และทำให้ผู้ผลิตมีรายได้ แต่ต้องยอมรับว่าสินค้าโอท็อปมีพื้นฐานมาจากชาวบ้านที่พัฒนาขึ้นมา ซึ่งมีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเอง โดยจุดแข็งคือ เป็นสินค้าที่เป็นภูมิปัญญา เกิดจากชุมชน และทิศทางของโลกก็ให้การต้อนรับความเป็นชุมชน แต่ก็มีจุดอ่อนในเรื่องของมาตรฐานการผลิต ซึ่งต้องเข้าใจพื้นฐานก่อนจึงจะทำการตลาดได้

“ในระยะเวลา 1 ปีที่มีการจัดตั้งเทรดเดอร์ขึ้นมาเกิดการเรียนรู้ว่าตลาดในประเทศแข่งขันกันสูงมาก ฉะนั้นตลาดต่างประเทศจึงเป็นเป้าหมายสำคัญ และที่ผ่านมาการทำตลาดในต่างประเทศประสบความสำเร็จค่อนข้างมากในกลุ่ม CLMV และจีน”

นายวัชรพงศ์กล่าวอีกว่า แผนงานโอท็อปเทรดเดอร์มี 2 แนวทาง ได้แก่ โอท็อปไลฟ์สไตล์ และโอท็อปเอาท์เลต โดยเป็นการขายแบรนด์ ไม่ใช่ขายตัวสินค้า เพราะเมื่อแบรนด์ติดตลาดแล้ว สินค้าต่าง ๆ ก็จะตามไปด้วย ซึ่งแบรนด์ร้านค้าโอท็อปเอาท์เลตจะขายทั้งในประเทศ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ชุมชน และต่างประเทศ เช่น จีนได้เจรจาซื้อแบรนด์โอท็อปเอาท์เลตแล้ว และคาดว่าปลายปีนี้จะเปิดโอท็อปเอาท์เลตในดิวตี้ฟรีใน สปป.ลาว และห้างสรรพสินค้าในมาเลเซีย

นอกจากนี้ยังได้งบประมาณจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาก่อสร้างโอท็อปเอาท์เลตประเทศไทย เนื้อที่ 6,000 ตารางเมตร บริเวณ กม.44 ถนนสายเอเชีย หน้าโครงการพุทธอุทยานมหาราช (หลวงปู่ทวดองค์ใหญ่) จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะเป็นโชว์รูมสินค้าโอท็อปจากทั่วประเทศ และเป็นศูนย์พัฒนาบรรจุภัณฑ์กลางอีกด้วย