“ศูนย์ประชุมเชียงใหม่” ดึงลูกค้าต่างชาติ เอกชนหนุนตั้งร้านค้าปลอดภาษี

“พิงคนคร” เร่งตลาดศูนย์ประชุมครึ่งปีหลัง มุ่งเจาะตลาดต่างประเทศมากขึ้น ตั้งเป้าปี61 ทำรายได้ 70 ล้าน ให้คุ้มกับรายจ่าย ด้านเอกชนผลักดันให้มีการใช้พื้นที่ให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ดันตั้งศูนย์การค้าปลอดภาษี ชี้ต้องเปิดสัมปทานดึงเอกชนที่มีความชำนาญมาบริหารแบบมืออาชีพ

นางเนตรนภา สุทธิธรรมดำรง ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ซึ่งระหว่างรอผลการศึกษานี้ก็ยังคงดำเนินงานตามปกติ โดยในปีนี้พบว่าฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มตลาดในประเทศมากถึง 80% ส่วนอีก 20% เป็นลูกค้าต่างประเทศ และคาดว่ารายได้ของปีนี้จะอยู่ที่ราว 40 ล้านบาท เทียบกับปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยอมรับว่าตลอดระยะ 4 ปีที่ผ่านมาของการดำเนินงานศูนย์ประชุมยังคงขาดทุนมาโดยตลอด มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อปีอยู่ที่ 60-70 ล้านบาท ซึ่งในปี 2561 ตั้งเป้าทำรายได้ให้คุ้มกับรายจ่าย คือ 60-70 ล้านบาท เพื่อลดภาระการขาดทุน ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 จะเร่งรุกตลาดให้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่จะทำงานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ซึ่งศูนย์ประชุมฯเชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางของตลาดไมซ์ต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม Eco-MICE

รอผลศึกษา – ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ จ.เชียงใหม่ ถูกโอนมาอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการว่าจะเป็นรูปแบบใด ปัจจุบันยังเปิดบริการปกติ โดยมีกลุ่มตลาดในประเทศ80% และอีก 20% เป็นลูกค้าต่างประเทศ


ด้านนางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การบริหารจัดการศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าฯเชียงใหม่เป็นเรื่องสำคัญในการกระตุ้นอุตสาหกรรม MICE ในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ เพราะจะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีความชัดเจนในเรื่องอัตราการเช่าพื้นที่ ซึ่งหากมีการปรับการบริหารจัดการใหม่ก็จะต้องมีอัตราการใช้พื้นที่ที่เหมาะสม และผู้ประกอบการ หรือ Event Organizer สามารถแข่งขันได้

นอกจากนั้นต้องมีการใช้พื้นที่ให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหอการค้าฯมีข้อเสนอให้ศูนย์ประชุมเป็นจุดพักถ่ายรถบัสขนาดใหญ่ที่จะขนคน (นักท่องเที่ยว) ขึ้นดอยสุเทพ ให้เปลี่ยนถ่ายเป็นรถสองแถวแทน เนื่องจากการนำรถบัสขึ้นดอยสุเทพค่อนข้างอันตราย ดังนั้นก็จะทำให้มีนักท่องเที่ยวมาแวะพักที่ศูนย์ประชุมมากขึ้น พร้อมเสนอให้เป็นพื้นที่ตั้งศูนย์การค้าปลอดภาษี หรือการบูรณาการการใช้พื้นที่กับภาคเอกชนในพื้นที่ เป็นต้น

นางศิริพร ตันติพงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การบริหารจัดการศูนย์ประชุมควรเปิดให้สัมปทานภาคเอกชนที่มีความชำนาญในการบริหารแบบมืออาชีพเข้ามาเป็นผู้บริหาร ด้วยงบลงทุนในการก่อสร้างกว่า 3,000 ล้านบาท ควรมีการบริหารให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด นอกจากนี้ควรให้โอกาสภาคเอกชนในพื้นที่ได้มีโอกาสเข้ามาใช้บริการพื้นที่ของศูนย์ประชุมในอัตราพิเศษที่เหมาะสม