“วันยางพาราบึงกาฬ”กระหึ่ม 13-19 ธ.ค.หนุนเกษตรกรต่อยอดธุรกิจ

27 พันธมิตรจับมือจัด “งานวันยางพาราบึงกาฬ 2562” ยกระดับการพัฒนาพืชเศรษฐกิจของประเทศ MTEC เปิดตัวนวัตกรรมช่วย “ลดกลิ่นแอมโมเนีย-ยืดอายุใช้งาน” สร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมเกษตรกรแปรรูปยางสู่ตลาดโลก ทุนจีน “รับเบอร์ วัลเล่ย์ฯ” เตรียมเปิดตัว “หมอน” แบรนด์ “บึงกาฬ” เจาะตลาดจีน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดบึงกาฬ องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ประกาศจัด “งานวันยางพาราบึงกาฬ 2562” ระหว่าง 13-19 ธ.ค.นี้ ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ ภายใต้แนวคิด “บึงกาฬ ศูนย์กลางยางพารา เศรษฐกิจก้าวหน้า การค้าก้าวไกล” โดยมีองค์กรต่าง ๆ ร่วมสนับสนุนกว่า 27 หน่วยงาน อาทิ สำนักงานจังหวัดบึงกาฬ, องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ,คาราบาวกรุ๊ป, การยางแห่งประเทศไทย, การกีฬาแห่งประเทศไทย, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, กระทรวงพาณิชย์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด, บริษัทประวิทย์กรุ๊ป, บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เป็นต้น

โดยมีสุดยอดนวัตกรรมใช้งานได้จริงเพื่อชาวสวนยาง ตลอดจนกิจกรรมให้ความรู้คู่ความบันเทิง ครบครันทุกช่วงวัย พิเศษสุดกับการเปิดโซน China Pavilion จัดแสดงสินค้า และนิทรรศการ “จากเส้นทางสายไหม สู่ยางพารา” นอกจากนี้ มีการจัดแสดงนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ประกอบด้วย 1.สารบีเทพ (BeThEPS) เพื่อลดแอมโมเนียในขั้นตอนการผลิต และยืดอายุการเก็บน้ำยางข้น 2.กระบวนการผลิตหมอนยางแบบใหม่ที่สั้นลง 3.กาวดักแมลงจากยางพารา เป็นต้น

นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ กล่าวว่า ยางพาราเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรจำนวนมาก และเป็นพืชที่มีผลต่อจีดีพีของประเทศ เนื่องจากมูลค่ายางพารา 600,000 กว่าล้านบาท/ปี แต่วันนี้ราคายางขึ้นอยู่กับตลาดโลก ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายล่วงหน้า ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว และยังมีปัญหาจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ จึงต้องนำพาเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราไปสู่กลางน้ำและปลายน้ำเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งในงานวันยางพาราบึงกาฬจะมีนวัตกรรมหลายอย่าง เช่น ถนนยางพารา มีดกรีดยางนกเงือก เป็นต้น

“การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬครั้งนี้มีพันธมิตรที่เห็นคุณค่ายางได้มาร่วมสนับสนุนรวม 27 องค์กรด้วยกัน โดยมีเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนให้เกษตรกรยืนอยู่บนลำแข้งตัวเอง และพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการผ่านการแปรรูป”

ด้านนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า บึงกาฬมีทรัพยากรและต้นทุนที่ดินที่ต่อยอดได้สูง โดยมีพื้นที่ปลูกยางพารากว่า 1.3 ล้านไร่ แต่จะทำอย่างไรให้ยางพาราเดินไปกับพืชและกิจกรรมอื่น ๆ ทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือคงสภาพความเป็นธรรมชาติยังอยู่ควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรมและการแปรรูปยางพาราได้

ขณะที่นายเฉิน หู้เซิง ผู้อำนวยการฝ่ายประเทศไทย บริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด (ประเทศจีน) กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทวางแผนเปิดตัวหมอนยางพาราจากบึงกาฬในประเทศจีน ภายใต้แบรนด์ “บึงกาฬ” เพื่อเชื่อมโยงกับจังหวัดบึงกาฬ โดยนำช่องทางการซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซเข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขยายเข้าสู่ตลาดโลก และตลาดจีนได้เร็วขึ้น

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!