เชียงรายคาดนาปีทะลัก5แสนตัน-อุดรฯเตือนปลอมปนหอมมะลิโทษหนัก

ผลผลิตพุ่ง - ฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปีของเกษตรกร จ.เชียงรายปีการผลิต 2561-2562มีแนวโน้มว่าผลผลิตข้าวจะมีปริมาณสูงถึง 567,000 ตัน ทางธ.ก.ส.จังหวัดเชียงรายจึงได้จัดทำโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก เพื่อไม่ให้ราคาผลผลิตตกต่ำ

ธ.ก.ส.เชียงรายคาดข้าวทะลัก 5.6 แสนตัน ผุดมาตรการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี วงเงิน 1.1 พันล้าน ชี้อาจยาวถึงฤดูนาปรังปลายปี 62 ด้านจ.อุดรประกาศเตือน “ปลอมปนข้าวหอมมะลิ” โทษหนักทั้งจำ-ปรับ

นายดุสิต เหลี่ยมวัฒนา ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.จังหวัดเชียงราย ได้จัดทำโครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี ระยะเวลาดำเนินการระหว่างพฤศจิกายน 2561-กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อให้เกษตรกรชะลอขายข้าวเปลือก โดยให้เก็บข้าวไว้เพื่อลดความชื้นและรอราคาที่จะสูงขึ้น รวมถึงจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสหกรณ์ใน จ.เชียงราย เพื่อชี้แจงโครงการเพื่อรองรับฤดูเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกรปีการผลิต 2561-2562 โดยในฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวดังกล่าว คาดว่าเกษตรกรชาวเชียงรายจะมีผลผลิตข้าวนาปีออกมาประมาณ 567,000 ตัน โดยเป็นข้าวเปลือกหอมมะลิประมาณ 178,000 ตัน ข้าวเปลือกเหนียวประมาณ 389,000 ตัน ปัจจุบันเก็บเกี่ยวกันไปแล้วประมาณ 60%

ทั้งนี้ ได้กำหนดวงเงินสำหรับข้าวเปลือกความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 สิ่งเจือปนไม่เกินร้อยละ 2 กรณีข้าวเปลือกหอมมะลิสีได้ต้นข้าว 36 กรัมขึ้นไป ราคาตันละ 11,800 บาท และลดต่ำลงตามขั้นคุณภาพละ 200 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวตันละ 10,200 บาท ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 7,500 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 8,900 ตัน

โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถเก็บข้าวไว้ที่ยุ้งฉางของตัวเอง หรือฝากกับสถาบันเกษตรกรที่มีสถานที่รับฝาก โดยหากเก็บไว้นานกว่า 1 เดือน จะได้รับค่าฝากเก็บและดูแลรักษาตันละ 1,500 บาทด้วย แบ่งเป็นค่าสถานที่รับฝาก 500 บาท ส่วนอีก 1,000 บาท สำหรับเกษตรกรเจ้าของข้าว

นอกจากนี้ สำหรับสถาบันเกษตรกร เช่น สหกรณ์ ยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มปีการผลิต 2561-2562 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการนำเงินไปรับซื้อข้าวจากเกษตรกร ชะลอปริมาณข้าวที่จะออกสู่ตลาด และส่งเสริมการเก็บข้าวแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยได้ตั้งวงเงินสินเชื่อไว้ 12,500 ล้านบาท ซึ่งสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี และรัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยแทนสถาบันเกษตรกรในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561-31 ธันวาคม 2562

“ที่ผ่านมาพบปัญหาที่เคยเผชิญ คือ เกิดการเก็บเกี่ยวข้าวจำนวนมากแล้วนำมาขายพร้อมกัน ทำให้ราคาตกต่ำ โครงการจึงเพิ่มทางเลือกด้วยการตากและนำมาเก็บไว้ จะมีโอกาสรอให้ราคาสูงขึ้น โดยหากเก็บไว้นานกว่า 1 เดือน ยังได้รับค่าฝากเก็บและดูแลรักษาดังกล่าวอีกด้วย สำหรับจังหวัดเชียงรายคาดว่าจะมีสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมจำนวน 12 แห่ง วงเงิน 1,114 ล้านบาท รวมปริมาณข้าวเปลือกทั้งสิ้น 87,600 ตัน ทั้งนี้ ทั้ง 2 มาตรการคาดว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรในฤดูเก็บเกี่ยวใหม่นี้ได้และอาจยาวถึงฤดูนาปรังปลายปี 2562 หากว่าราคาข้าวไม่สูงขึ้นจนถึงหลังการเก็บข้าวไว้ของเกษตรกร และทางรัฐบาลคงจะมีมาตรการระบายข้าวต่อไป” นายดุสิตกล่าว

นางวราภรณ์ อิ่มแสงจันทร์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในแจ้งว่า ได้รับการร้องเรียนจากสมาคมโรงสีข้าวไทย ว่า ขณะนี้เกษตรกรมีการนำข้าวเปลือกนาปรังมาปลอมปนกับข้าวเปลือกหอมมะลิ เพื่อนำมาจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในหลายพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพ ราคา และชื่อเสียงของข้าวหอมมะลิของประเทศไทยจังหวัดอุดรธานี จึงออกประกาศเตือนให้ผู้ค้าข้าว เกษตรกร หรือผู้ที่มีส่วนร่วมรู้เห็นในการปลอมปนข้าวหอมมะลิ เพื่อนำไปจำหน่ายในจังหวัดอุดรธานี มีความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ