อนุชา มีเกียรติชัยกุล ชูอุตฯเชียงใหม่สู่ Smart Economy

สัมภาษณ์

แรงขับเคลื่อนจังหวัดเชียงใหม่มุ่งสู่เมืองอัจฉริยะ (smart city) เดินหน้าอย่างเต็มตัว ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาเมืองให้ทันสมัย น่าอยู่ สะอาด ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพ พลังงานสะอาด ฯลฯ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรของเมืองทำให้เศรษฐกิจเติบโต ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของเมืองและเพิ่มโอกาสในการต่อยอดทางด้านธุรกิจ “อุตสาหกรรม” ถือเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของเชียงใหม่ อยู่ในช่วงจังหวะของการขยับ-ปรับแผนให้สอดรับกับ smart city

“อนุชา มีเกียรติชัยกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กำลังเร่ง transform สมาชิกผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 400 ราย มุ่งสู่ smart economy แผน และแนวทางจะเป็นอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” มีบทสัมภาษณ์ที่มีรายละเอียดครบทุกประเด็น

“ภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดเชียงใหม่จะผูกพันเกี่ยวกับอาหารและเกษตรแปรรูปในสัดส่วนประมาณ 70% ส่วนอีก 30% กระจายไปในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ เครื่องจักร เครื่องมือแพทย์ และแฮนดิคราฟต์ ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกราว 400 ราย มีมูลค่าของอุตสาหกรรมในภาพรวมมากกว่า 2,000 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหารมากกว่า 500 ล้านบาท”


แม้จะเพิ่งเข้ามารับบทบาทประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ได้ไม่นาน แต่การดำเนินนโยบายที่ “อนุชา” เน้นหนักคือ จะเชื่อมโยงไปกับนโยบายของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ด้วยการมุ่งไปสู่ “green factory” ซึ่งสอดรับกับการขับเคลื่อนเชียงใหม่สู่เมืองอัจฉริยะ (smart city)


“อนุชา” บอกว่า ในปี 2561 แผนงานสำคัญของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ จับอยู่ 4 เรื่องหลัก ๆ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลง (transform) ขับเคลื่อนให้ล้อไปกับ smart city ของเชียงใหม่ เรื่องแรก มุ่งขับเคลื่อน FTI trans-form เริ่มจากการส่งเสริมให้สมาชิกในทุก ๆ บริการดูแลสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการผลิต ดูเรื่องมาตรฐานการผลิต มาตรฐานการทำบัญชีเดียว และมาตรฐานการใช้แรงงาน และจะมุ่งสู่เศรษฐกิจอัจฉริยะ หรือ smart economy

เรื่องที่สอง การขับเคลื่อนโครงการพื้นที่เศรษฐกิจ นวัตกรรมอาหารภาคเหนือ (Northern Thailand Food Valley) อย่างต่อเนื่อง โดยการสนับสนุน (support) ผู้ประกอบการในทุกกระบวนการ supply chain เพิ่มขีดความสามารถการผลิตด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม (innovation) การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ (packaging) และล่าสุดคือ การสนับสนุนด้านการตลาด (market place) รวมถึงการเข้าไปสนับสนุนระบบฟาร์มของเกษตรกรให้เข้าสู่ระบบเกษตรอัจฉริยะ (smart farmer)

“ทำให้เห็นว่าทั้งห่วงโซ่การผลิตของ food valley จะสมาร์ททุกขั้นตอน นวัตกรรมที่เราใส่ลงไปให้ผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทาง ทำให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถทางการผลิตและการตลาดเพิ่มสูงขึ้น เช่น การทำลูกชิ้นมีไส้น้ำจิ้มอยู่ข้างใน เป็นเทรนด์ที่ตอบโจทย์ว่าสินค้าชนิดนี้ขายให้กับใคร ผู้ประกอบการมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ขายของได้มากขึ้น มีโอกาสพัฒนาสินค้าได้มากขึ้นเรื่อย ๆ”

เรื่องที่สาม การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ซึ่งสอดรับกับนโยบายเชียงใหม่เมืองสุขภาพ ที่จังหวัดเชียงใหม่กำลังผลักดัน เนื่องจากเชียงใหม่เป็นฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์ โดยเฉพาะด้านทันตกรรมใหญ่ที่สุดในอาเซียน และส่งออกไปทั่วโลก รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตเตียงผู้ป่วย และรถสำหรับผู้พิการ และยังมองไปถึงความสามารถในการผลิตสมุนไพรเป็นยา

เรื่องที่สี่ การพัฒนาคลัสเตอร์ดิจิทัล (cluster digital) ขณะนี้รวมกลุ่มผู้ประกอบการได้ราว 20 ราย ทั้งด้านซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ บิ๊กดาต้า ซึ่งสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่มองว่า การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลจะสามารถตอบโจทย์ได้ทุก supply chain

ขณะที่แผนงานสำคัญในปี 2562 ได้วางทิศทางพัฒนาสมาชิกผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง เน้นหนักการให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยี โดยจะนำคลัสเตอร์ดิจิทัลเข้าไปสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบซึ่งผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่จะได้ประโยชน์ และจะมีความสมาร์ทในการทำธุรกิจได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้จะเปิดตัวโครงการ Big Data ของสภาอุตสาหรรมจังหวัดเชียงใหม่ เป็นการรวมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาไว้ในที่เดียว ทั้งการรวมข้อมูล การบริการของทุกหน่วยงานเป็นฐานข้อมูลที่จะ support ให้สมาชิกได้รับบริการได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาผู้ประกอบการให้เข้าถึง IOT และ digital เป็นการตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมของเชียงใหม่ที่จะไปสู่เศรษฐกิจอัจฉริยะ (smart economy) เป็นไฮไลต์ในปี 2562

 

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!