เดินหน้ารถไฟรางคู่-ความเร็วสูง “หนองคาย” พร้อมลุยสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ จ.หนองคาย โดยติดตามการดำเนินการโครงการรถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ที่สถานีรถไฟหนองคาย ก่อนจะเดินทางไปยังแขวงการทางหนองคาย เพื่อรับฟังโครงการขยายเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ จ.หนองคาย ผลักดันเข้าที่ประชุม ครม.สัญจร

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ครม.สัญจร โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ลงพื้นที่ จ.อุดรธานี ซึ่งมีการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ ซึ่งเป็นจุดที่มีการจราจรคับคั่งมาก จากหนองบัวลำภู-สกลนคร และหนองคาย-อุดรธานี คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จเดือนกันยายน 2562 โดยจะเป็นลักษณะเส้นทาง 3 ระดับ มีทั้งอุโมงค์ทางลอดอุดรธานี-หนองคาย, สะพานยกระดับจากหนองบัวลำภู-สกลนคร และเป็นทางระดับดิน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดลงได้ รวมถึงได้ไปเยี่ยมประชาชนที่ อ.โนนสะอาด ซึ่งมีถนนที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ใน 1 ปี มีผู้เสียชีวิต 17 ราย กรมทางหลวงได้แก้ไขด้วยการเพิ่มสัญญาณไฟแดงเพื่อลดอุบัติเหตุเกือบทั้งหมด

สำหรับ จ.หนองคาย จะมีโครงการเกิดขึ้น 2 โครงการ คือ รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง โดยโครงการรถไฟทางคู่นั้นจะเป็นเส้นทางต่อจาก จ.ขอนแก่น ช่วงแรกจิระ-ขอนแก่น อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ก้าวหน้าไปกว่าร้อยละ 90 ขณะนี้เปิดให้รถไฟวิ่งได้ในทางยกระดับบางส่วนประมาณ 5-10 กม. ส่วนสถานีจิระ-คลองขนานจิต อยู่ระหว่างการปรับแบบเพื่อยกระดับขึ้นให้สอดคล้องกับความต้องการของชาวนครราชสีมา

สำหรัยรถไฟทางคู่ที่วิ่งจากขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. ความเร็วสูงสุดที่รถไฟทางคู่จะวิ่งได้อยู่ที่ 160 กม./ชม. มูลค่าการลงทุนประมาณ 26,647 ล้านบาท มีทั้งหมด 14 สถานี มี 4 จุดจอด จะสะดวกสำหรับประชาชนที่เดินทางในระยะใกล้และราคาค่าโดยสารเป็นปกติ รวมทั้งจะใช้เป็นเส้นทางการขนส่งทางรถไฟ ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม. คาดว่าจะนำเข้าเสนอได้ในเดือนมกราคม 2562 โดยจะเป็นการเพิ่มรางรถไฟขึ้นมาอีก 1 ราง การรถไฟได้ปรับปรุงหมอนรถไฟจากไม้เป็นคอนกรีตและหินโรยทาง ปรับปรุงรางรถไฟให้สามารถรับน้ำหนักได้มากขึ้นด้วย

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ช่วงแรกเป็นสถานีบางซื่อ กรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.3 กม. ความคืบหน้าในสัญญาที่ 1 เริ่มก่อสร้างแล้วในช่วงปากช่อง-บางอโศก คืบหน้าร้อยละ 50 เป็นการปรับปรุงชั้นทาง ส่วนสัญญาที่ 2 ระยะทาง 11 กม. ขณะนี้ได้ออกทีโออาร์ไปแล้ว จะมีการยื่นซองในวันที่ 18 ธันวาคม 2561 หลังจากนั้นมกราคม 2562 จะมีการออกทีโออาร์ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา อีก 5 สัญญา ถัดไปเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะมีการออกทีโออาร์อีก 7 สัญญา ก็จะครบถ้วนสัญญา 252.3 กม.

ทั้งนี้คาดว่าในไตรมาสที่ 2 จะได้ผู้รับจ้างแล้ว ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2562 ก็จะได้เริ่มต้นก่อสร้าง มูลค่าการลงทุนในส่วนแรก 179,413 ล้านบาท ความเร็วสูงสุดของรถไฟความเร็วสูงอยูที่ 250 กม./ชม. ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564-2565 เมื่อก่อสร้างแล้วจะเร็ว เพราะ 13 สัญญาจะสร้างพร้อมกัน ในส่วนระยะที่สอง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. เชื่อมต่อไปถึงบางซื่อ โดยจะมีทั้งหมด 5 สถานี เริ่มจากบัวใหญ่-บ้านไผ่-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย ประมาณการก่อสร้าง 211,747 ล้านบาท วัตถุประสงค์หลักจะใช้สำหรับขนส่งผู้โดยสารเพียงอย่างเดียว

โดยช่วงสถานีหนองคายมี 2 สถานี สถานีหนองคายเป็นสถานีผู้โดยสาร และสถานีนาทา จะเป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้าเพื่อเข้าสู่ระบบทางคู่ไปแหลมฉบัง และตั้งใจให้เป็นท่าเรือบก (Drive port) เพื่อให้บริการจุดเดียว อยู่ระหว่างการของบฯจากรัฐบาล และรัฐบาลไทยจะเป็นฝ่ายออกแบบเอง โดยได้ตกลงกับรัฐบาลจีนเรียบร้อยแล้ว เพราะไทยออกแบบได้เร็วกว่าและประหยัดค่าใช้จ่ายได้ด้วย หากรถไฟความเร็วสูงก่อสร้างเสร็จตลอดเส้นทางจะช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางจากเดิมที่เดินทางรถไฟปกติ จากกรุงเทพ-หนองคาย ใช้เวลา 11 ชม. รถไฟความเร็วสูง จากกรุงเทพ-นครราชสีมา จะใช้เวลา 1.30 ชม. และกรุงเทพ-หนองคาย เพียง 3 ชม.เท่านั้น

สำหรับส่วนที่สาม จะเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เริ่มจากสถานีนาทา ไปยังสะพานเพื่อการรถไฟโดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ของ จ.หนองคาย โดยจะสร้างคู่ขนานกับสะพานแห่งที่ 1 ซึ่งจะเป็นสะพานใหม่ที่สร้างไว้รองรับเส้นทางรถไฟปกติ รางรถไฟ 1 เมตร และรถไฟความเร็วสูงดับเบิลแทร็กเพื่อเชื่อมกับสถานีเวียงจันทน์ ส่วนสะพานเดิมจะใช้เฉพาะเดินรถยนต์เพียงอย่างเดียว รัฐบาลได้ตกลงกับทางรัฐบาลจีนและรัฐบาลลาว ขอให้ทางฝ่ายจีนเป็นผู้ออกแบบและศึกษาความเหมาะสม เพื่อให้รองรับรถไฟปกติและรถไฟความเร็วสูง จะเร่งการออกแบบให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 เริ่มต้นก่อสร้างปี 2563 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี หรือประมาณปี 2566 ก็จะใช้ได้เส้นทางใหม่นี้ ซึ่งจะสอดคล้องกับการก่อสร้างเส้นทางจากคุนหมิง-นครหลวงเวียงจันทน์ จะก่อสร้างแล้วเสร็จในเวลาไล่เลี่ยกัน