“ศุภชัย” พ่อเมืองเชียงใหม่ ชู Smart City ปั้น Smart Wellness

เชียงใหม่

การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (smart city) ของจังหวัดเชียงใหม่ กำลังรุดหน้าอย่างจริงจัง และถูกวางเป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกที่ทุกภาคส่วนร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนขับเคลื่อน โดยมีหัวเรือใหญ่ “ศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นทัพหน้าปลุก 2 พื้นที่นำร่อง

คือ โครงการ Smart Nimman และโครงการ Smart University ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมตั้งเป้ายกระดับเมืองสุขภาพปั้น smart wellness ก้าวสู่ศูนย์กลาง medical health hub เรือธงเศรษฐกิจใหม่ “ประชาชาติธุรกิจ” มีบทสัมภาษณ์พิเศษ “ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่” ถึงยุทธศาสตร์และแผนงานที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า

รุกเดินหน้า Smart City

ตอนนี้จังหวัดเชียงใหม่เดินหน้าด้วยยุทธศาสตร์เชิงรุก รับ และปรับตัว โดยเชิงรุกคือ พัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาโดยเฉพาะเมืองอัจฉริยะ หรือ smart city ขณะเดียวกันต้องรุกแก้ปัญหาเดิมที่มีอยู่ ทั้งปัญหาน้ำเสียในคลองแม่ข่า ขยะ เป็นต้น ส่วนยุทธศาสตร์เชิงรับและปรับตัว คือ ปรับและพัฒนาต้นทุนเดิมที่มีอยู่ให้ดีขึ้น คือ ด้านท่องเที่ยว ด้วยการทำให้เมืองมีความน่าอยู่ ปลอดภัย และรักษาแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ของเมืองให้เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต

ตอนนี้เรารุกคืบพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน โดยนำร่อง 2 พื้นที่ในปี 2561-2562 คือโครงการ Smart Nimman ย่านถนนมินมานเหมินท์ และ smart university มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เริ่มขับเคลื่อนตั้งแต่การประชุม Chiangmai Forum ครั้งที่ 1/2561 เมื่อเดือนสิงหาคม

ในส่วนโครงสร้างพื้นฐานย่านนิมมานฯกำลังเร่งทำในหลายด้าน อาทิ โครงการนำเสาไฟ-สายไฟลงดิน โครงการปรับปรุงทางเท้าใหม่ โครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ทั่วทั้งย่าน และโครงการออกแบบภูมิทัศน์ถนน บ้านเรือน ชุมชน และร้านค้าให้เป็นระเบียบ ส่วนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เร่งดำเนินโครงการ CMU Smart City-Clean Energy เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยสู่เมืองต้นแบบอัจฉริยะ-พลังงานสะอาด

อีกปัจจัยหนึ่งของการเป็นสมาร์ทซิตี้ คือ การมีระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งบริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด (RTC) ได้ลงทุนให้บริการรถบัสโดยสารประจำทาง (smart bus) เป็นโอกาสพัฒนาเมืองที่สำคัญ โดยจังหวัดเชียงใหม่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมภาคเอกชนเดินหน้าต่อไปเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

“โจทย์การพัฒนาสมาร์ทซิตี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องลงรายละเอียดในเนื้องาน การทำ Smart Nimman ไม่ใช่โจทย์ง่าย ต้องใช้เวลาและช่วยกันทุกฝ่าย ทุก ๆ เรื่องไม่จำเป็นต้องทำพร้อมกัน เรื่องไหนจำเป็นมากก็ทำก่อนและเดินหน้าอย่างมีเป้าหมาย”

ปั้น Smart Wellness

การพัฒนาเชียงใหม่เป็น smart city จะนำไปสู่ smart economy ผมสนใจเรื่องเมืองสุขภาพ จะทำให้เชียงใหม่เป็น smart wellness ซึ่งในความเป็น smart wellness ไม่ได้มองแค่มิติเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องเป็นเมืองที่คนเชียงใหม่มีสุขภาพที่ดีด้วย หลังการประชุม Chiangmai Forum เกี่ยวกับเรื่อง medical health hub เราได้แบ่งการดำเนินการเป็นแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และสร้าง roadmap นำประเด็นสำคัญไปบูรณาการเพิ่มเติมในแผนแม่บทหลัก “เมดิคอลฮับ” ที่มีอยู่ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาโรงพยาบาลในต่างอำเภอให้สามารถรองรับผู้ป่วยในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดภาระการเดินทางมารักษาพยาบาลในตัวเมืองเชียงใหม่

โดยจะวางจุดบริการ (node) ระบบเครือข่ายในอำเภอหลัก ๆ อาทิ ทางตอนเหนือที่อำเภอฝาง ทางตอนใต้ที่อำเภอจอมทอง เป็นต้น จะให้มีการเพิ่มเตียง เพิ่มงานบริการ ใช้แอปพลิเคชั่นให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มขีดความสามารถโรงพยาบาลระดับอำเภอ วางเครือข่ายระบบเทคโนโลยีให้เข้าถึงง่าย ส่งเสริมอบรมการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ส่งเสริมชุมชนให้ฝึกอบรมคนในชุมชนเรื่องการดูแลคนเจ็บป่วย ดูแลพ่อแม่ตัวเองได้ เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องมาโรงพยาบาล เป็นต้น

ขณะที่มิติด้านเศรษฐกิจของ smart wellness ถือว่าสำคัญมาก เพราะจะทำให้เกิดการขนส่งการเดินทางเข้าสู่เชียงใหม่ เกิดการจ้างงาน เกิดการบริบาล การดูแลรักษา ให้คนมาพักผ่อน จะทำให้เกิดเศรษฐกิจขึ้นมา เป็นสิ่งที่จับต้องได้ และเชียงใหม่มีศักยภาพจะเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (medical health hub) ด้วยขีดความสามารถของจังหวัดที่มีสูงมากในการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานระดับสากล ทั้งการรักษาโรคทั่วไป โรคเฉพาะทาง ทันตกรรม การให้บริการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะบริการสปาที่ได้มาตรฐานสากล และมีลองสเตย์สำหรับผู้สูงอายุที่ได้มาตรฐานระดับสากลเช่นกัน

ทั้งนี้ การพัฒนาเชียงใหม่ให้เป็น smart wellness จะต้องเชื่อมโยงกับ smart city โดยตรง เพราะเมื่อโครงสร้างพื้นฐานดี เมืองมีความปลอดภัย เดินทางสะดวก สิ่งแวดล้อมดี จะหนุนเสริมให้เชียงใหม่เป็นเมืองสุขภาพที่รองรับคนเข้ามาใช้บริการด้านต่าง ๆ

ผมมองว่าขีดความสามารถของบุคลากรที่จะดูแลผู้สูงอายุเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งตอนนี้เชียงใหม่ยังขาดบุคลากรกลุ่มนี้จำนวนมาก จำเป็นต้องเร่งพัฒนาบุคลากรที่จะดูแลผู้ป่วยสูงอายุ รวมถึงผู้สูงอายุที่ไม่เจ็บป่วย เนื่องจากฐานของจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งผู้สูงอายุคนไทยและต่างชาติ ซึ่งในอนาคตเชียงใหม่จะเป็นเมืองที่รองรับผู้สูงอายุ สถาบันการศึกษาอาจจะเพิ่มหลักสูตรการบริบาล เพื่อผลิตบุคลากรมารองรับความต้องการของตลาดในอนาคต

ณะเดียวกันต้องเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนด้านการดูแลผู้สูงอายุในลักษณะลองสเตย์ให้มากขึ้น การให้สิทธิพิเศษด้านการลงทุนจะเป็นแรงดึงดูดให้เกิดการลงทุนมากขึ้น

“smart wellness มันแรงพอที่จะขับเคลื่อน ซึ่งจะได้ทั้งเศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นเศรษฐกิจเชิงรุกและเป็นเศรษฐกิจใหม่ที่จะทำให้เชียงใหม่พัฒนาได้อย่างยั่งยืน”

 

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!