รัฐ-เอกชนบูรณาการอุ้มสวนยาง “บึงกาฬ” จัดบิ๊กอีเวนต์-ยกระดับขายออนไลน์

บึงกาฬจัดยิ่งใหญ่ “งานวันยางพาราบึงกาฬ 2562” หนุนยางพารา จับมือภาครัฐ-เอกชน โกอินเตอร์ เชื่อมเกษตร-อุตสาหกรรม-การส่งออก องค์กรพันธมิตรตบเท้าร่วมงานคับคั่ง เอกชนจีนดันหมอนยาง “บึงกาฬ” ภาครัฐไทยพร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนหวังช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง

ผู้สื่อข่าวรายงานเข้ามาถึง “งานวันยางพาราบึงกาฬ 2562” ที่จัดโดยจังหวัดบึงกาฬร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬและหน่วยงานราชการและภาคเอกชนระหว่างวันที่ 13-19 ธันวาคม 2561 ภายใต้แนวคิด “บึงกาฬ ศูนย์กลางยางพารา เศรษฐกิจก้าวหน้า การค้าก้าวไกล” โดยมีนายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงาน พร้อมด้วยตัวแทนภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์, นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหาร ร่วมไปถึงนายยืนยง โอภากุล กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทคาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ นายจาง เหย็น ประธานกรรมการบริหารเครือบริษัทรับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า บึงกาฬมีศักยภาพในการก้าวเป็นศูนย์กลางยางพารามีการบูรณาการจากทุกภาคส่วนภายในจังหวัดในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการลงนามบันทึกข้อตกลงการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศและการจับมือค้าขายกับพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องราคายางพาราอย่างเต็มที่ในทุกมิติ

ขณะที่นายพินิจ จารุสมบัติ กล่าวถึงภาพรวมของงานวันยางพาราปีนี้ว่า ได้ยกระดับโดยเฉพาะเรื่องคุณภาพ เนื้อหา นวัตกรรมมีดกรีดยาง เช่น มีดกรีดยางไฟฟ้ารุ่นล่าสุดจากสิบสองปันนา การยกระดับความร่วมมือจากการลงนามความร่วมมือระหว่าง บริษัทหวาอี้ กรุ๊ป กับบริษัทไทยคชสาร โลจิสติกส์ เซอร์วิส จังหวัดชลบุรี และบริษัทโชคอลังการ รีไซเคิ้ล จังหวัดขอนแก่นด้วย ด้านนายจาง เหย็น ประธานกรรมการบริหาร เครือบริษัทรับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาได้ลงนามซื้อขาย “หมอนยางพารา” กับจังหวัดบึงกาฬในชื่อแบรนด์ “บึงกาฬ” จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีสินค้าอื่น ๆ ตามหมอนยางพาราเพิ่มเติมมาด้วย

“ตอนนี้สถานการณ์ทางการเมืองโลกค่อนข้างซับซ้อน โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ทำให้มีโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีเทคโนโลยีและศักยภาพในการผลิตสูงมาก ทำให้สามารถส่งต่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ สู่ประเทศไทยในการพัฒนายางพาราให้ดียิ่งขึ้นและปรับเปลี่ยนช่องทางการซื้อขายให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น อาทิ การซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์อาลีบาบาด้วย” นายจาง เหย็นกล่าว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!