5 สหกรณ์นาเกลือดิ้นขอกู้รัฐหนีพ่อค้ากดราคา

ผนึกกำลัง - 3 จังหวัดนาเกลือสมุทร คือ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรีรวมกลุ่มกันตั้ง "ชุมนุมเกลือทะเลไทย" แก้ปัญหาการกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง

5 สหกรณ์ 3 จังหวัด “สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม-เพชรบุรี” รวมกลุ่มตั้ง “ชุมนุมเกลือทะเลไทย” ยื่นกระทรวงเกษตรฯ ขอเงินกู้ 130 ล้าน บริหารต้นทุนผลผลิตจากสมาชิก หวังต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลาง หลังโดนตกเขียวมานาน ล่าสุด เตรียมพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า

นายเลอพงษ์ จั่นทอง ประธานสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด จ.สมุทรสาคร และรองประธานชุมนุมเกลือทะเลไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ชุมนุมเกลือทะเลไทย จำกัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวกันของ 5 สหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ 3 จังหวัด เพื่อต่อรองราคาซื้อขายเกลือกับพ่อค้าคนกลาง ได้แก่ 1.สหกรณ์กรุงเทพ จำกัด จ.สมุทรสาคร 2.สหกรณ์การเกษตรนาเกลือสมุทรสาคร จำกัด 3.สหกรณ์การเกษตรนาเกลือสมุทรสงคราม จำกัด 4.สหกรณ์นาเกลือบางแก้ว จำกัด จ.สมุทรสงคราม และ 5.สหกรณ์การเกษตรนาเกลือบ้านแหลม จำกัด จ.เพชรบุรี ได้ยื่นเรื่องขอเงินทุนกู้ยืมจากภาครัฐ 130 ล้านบาท เพื่อใช้บริหารจัดการเป็นต้นทุนซื้อเกลือจากสมาชิกให้เกิดความยั่งยืน ขณะนี้ผ่านการพิจารณาแล้วอยู่ในขั้นตอนการอนุมัติคาดว่าได้งบฯในปี 2562

ทั้งนี้ สมาชิกในกลุ่มสหกรณ์ได้กำหนดราคาซื้อเกลือไว้ แบ่งเป็นเกลือขาว ราคา 1.80 บาท เกลือกลาง 1.50 บาท และเกลือดำ 1.30 บาท หากสามารถกำหนดราคาในการขายออกไปได้มากกว่าราคาที่รับซื้อจากสมาชิก จะแบ่งให้กับสมาชิกและคืนเงินให้ภาครัฐได้ ที่เหลือจะเก็บไว้เป็นทุนต่อไป ซึ่ง การรวมตัวกันเป็นชุมนุม ส่งผลให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมประมงเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการสร้างมาตรฐานในการผลิตเกลือที่ได้คุณภาพ ทั้งยังสามารถกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อมาทำยุ้งฉางเก็บเกลือด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 บาท/ปี

“ในอดีตที่ผ่านมา เกษตรกรชาวนาเกลือถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางมาตลอด สมาชิกส่วนหนึ่งไม่มีเงินทุนจนต้องไปตกเขียวมา ทำให้พ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดราคาเกลือด้วยตัวเองเมื่อมารับซื้อกับเกษตรกร ยกตัวอย่างเมื่อปี 2559 เกิดภัยแล้งอย่างหนักผลผลิตเกลือออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เกษตรกรชาวนาเกลือทั้ง 3 จังหวัดสามารถขายเกลือได้ในราคา 500-600 บาทต่อเกวียน ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 500 บาทต่อเกวียน เมื่อสหกรณ์หันมาจับมือกันจึงมีอำนาจต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลางมากขึ้น แต่ในปี 2560 กลับมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรสามารถผลิตเกลือได้เพียง 30-40 เกวียนต่อไร่ บางรายล้มนาเกลือหันไปเลี้ยงกุ้งหรือปลาแทน กระทั่งปลายปีจึงเกิดความชัดเจนในเรื่องของราคา เราจึงรวมตัวกันเกาะกลุ่มเป็นชุมนุมสหกรณ์เกลือทะเลไทยสามารถช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรต่อรองราคาได้ และโชคดีที่นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนปัจจุบันได้เล็งเห็นความสำคัญของเกลือทะเล จึงมีการกำหนดให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นผู้ดูแลเกลือทั้งระบบ” นายเลอพงษ์กล่าว

สำหรับจังหวัดสมุทรสาคร ช่วงฤดูการทำนาเกลือจะอยู่ในเดือนมกราคม-เมษายน ปัจจุบันสมาชิกในสหกรณ์แต่ละคนมีพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ รวมพื้นที่ทำนาเกลือประมาณ 1,120 ไร่ สามารถเก็บดอกเกลือและเม็ดเกลือได้ประมาณ 300 เกวียนต่อปี น้ำหนัก 1,600 กิโลกรัมต่อเกวียน ราคา 2.5 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 4,000 บาทต่อเกวียน รายได้เฉลี่ย 1.2 แสนบาทต่อปี มากกว่าราคาเกลือสินเธาว์ที่มีราคาประมาณ 1-2 บาทต่อกิโลกรัม และตลาดหลักอยู่ในภาคกลางและภาคเหนือ โดยมีแหล่งกระจายสินค้าอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก

นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ชุมชนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสหกรณ์ ต.โคกขาม เมืองสมุทรสาคร ที่นำดอกเกลือและเม็ดเกลือมาแปรรูป โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ให้การสนับสนุน เช่น ธ.ก.ส.เกษตรจังหวัด วิทยาลัยชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร โดยใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า “Siam Sea Salt” ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาเพื่อขอมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในปี 2562

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!