พัฒนาชุมชนตั้งเป้าปีกุน 2.3 แสนล้าน เจาะตลาดใหม่ไพรเวตเซ็กเตอร์ดันท่องเที่ยวนวัตวิถี

กรมพัฒนาชุมชน ตั้งเป้ารายได้ปี 2562 ทะลุ 2.3 แสนล้าน เดินหน้ารุกชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี มุ่งผลักดันสินค้าโอท็อป ทุ่มงบฯ 800 ล้านบาท พัฒนา 8,780 หมู่บ้าน ลุยช่องไพรเวตเซ็กเตอร์ตลาดใหม่ “ไอคอนสยาม-รีเจนท์สยาม-ตลาดต่อยอด” พร้อมลุยขับเคลื่อนยกระดับผลิตภัณฑ์คุณภาพต่ำ quadrant กว่า 58,330 ผลิตภัณฑ์ตั้งเป้าโต 2.3 แสนล้าน

นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2562 กรมการพัฒนาชุมชนตั้งเป้ารายได้สูงขึ้นประมาณ 15% หรือกว่า 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีรายได้อยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท รวมถึงผลิตภัณฑ์โอท็อปมีการพัฒนามากขึ้น มีผู้ประกอบการมากขึ้น โดยเฉพาะนักธุรกิจรุ่นใหม่ โดยปี 2562 กรมได้ทุ่มงบประมาณ 800 ล้านบาทในการขับเคลื่อนโอท็อป ซึ่งดำเนินตามยุทธศาสตร์ความสุขของประชาชน โดยก้าวแรก คือ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากหรือเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ประชาชนมีความสุข มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ทั้งนี้ ดำเนินการผ่านแนวทาง 3 ด้าน ตัวชี้วัด 23 ตัว คือ 1.การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 มาขับเคลื่อนให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ผ่านโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ที่ปีนี้รัฐบาลได้เทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 9 และน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงลงไปทุกหมู่บ้านทั้งหมด 75,000 หมู่บ้าน โดยกำหนดให้พัฒนาชุมชนอำเภอละ 10 หมู่บ้าน รวมทั้งหมดปีนี้จะต้องดำเนินการ 8,780 หมู่บ้าน ซึ่งที่ผ่านมากรมได้พัฒนาชุมชนปีละ 878 หมู่บ้าน/ปี หรือรวมทั้งหมด 2,400 หมู่บ้านประกอบกับตั้งเป้าลดจำนวนครัวเรือนยากจน ด้วยการให้นักพัฒนาชุมชนที่มีทุกหมู่บ้านสำรวจจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) คัดเลือกครอบครัวยากจนที่มีรายได้ต่ำกว่า 38,000 บาท/ปี

และทำโครงการแก้ไขปัญหาครัวเรือนยากจน รวมถึงชี้เป้าให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอทราบ และระดมทีมไปช่วยเหลือ อีกทั้งกองทุนต่าง ๆ ที่มีในชุมชน เช่น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เป็นต้น ควรมีการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกในชุมชนด้วย ทั้งนี้มุ่งเน้นความต้องการของชุมชน ส่งเสริมอาชีพในชุมชน และเกิดรายได้ในชุมชน

ชูท่องเที่ยวนวัตวิถีหนุนโอท็อป

2.การผลักดันเศรษฐกิจฐานรากขยายตัว สร้างความเข้มแข็งจากภายใน ผ่านโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 3,273 หมู่บ้าน งบประมาณ 5,681 ล้านบาท กระจายหมู่บ้านละ 1.8-1.9 ล้านบาท ในการพัฒนาแบรนด์ชุมชน อาหาร ผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการ หมู่บ้านละ 10 ผลิตภัณฑ์ คาดว่าแล้วเสร็จภายในธันวาคม 2561 ซึ่งตั้งเป้าชุมชนต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น 10% ประกอบกับต้องมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น เกิดการกระจายตัวสู่ธุรกิจโดยรอบ เช่น โรงแรม ลานกางเต็นท์ โฮมสเตย์ บ้านพัก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เป็นต้น และที่สำคัญประชาชนมีความสุขหรือไม่

ขณะเดียวกันเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชนกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง การทำประชาสัมพันธ์ และการตลาด ซึ่งได้พูดคุยกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการนำบริษัททัวร์ลงมาดูพื้นที่ว่าสามารถทำเส้นทางทัวร์เข้าสู่ชุมชนท่องเที่ยวได้หรือไม่ โดยปัจจุบันมีชุมชนนวัตวิถีที่มีศักยภาพ 20 แห่ง มีบริษัททัวร์เข้าไปแล้ว ซึ่งกรมต้องการขยายให้เพิ่มมากขึ้นรวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อป โดยมุ่งผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภค ต้องเจาะลึกรายละเอียดและมีแผนธุรกิจที่ดี รวมถึงมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมเข้ามาใส่ เป็นลักษณะการมิกซ์แอนด์แมตช์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กลุ่มสินค้าที่มีคุณภาพต่ำ ราคาต่ำ และได้ผลผลิตน้อยหรือกลุ่มควอดแรนต์ (Quadrant) D ที่ปัจจุบันมีกว่า 58,330 ผลิตภัณฑ์ ขณะเดียวกันส่งเสริมโอท็อปเทรดเดอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนโอท็อปที่เก่งและมีการรวมตัวกันจัดตั้งเหมือนบริษัท เป็นทั้งผู้รวบรวมและกระจายสินค้า ให้เป็นผู้นำด้านการตลาด ขณะที่กรมจะช่วยสนับสนุน ปัจจุบันการตลาดกว่า 80% ยังเป็นตลาดภายในประเทศ และอีก 20% เป็นตลาดต่างประเทศ

มุ่งไพรเวตเซ็กเตอร์-โกอินเตอร์

“ขณะนี้ต้องใช้ private sector ให้มากขึ้น จากเดิมที่ต้องพึ่งประชารัฐ เช่น ตลาดต่อยอด จ.พระนครศรีอยุธยา, รีเจนท์สยาม จ.ชลบุรี โรงพยาบาลปิยะเวท และไอคอนสยาม เป็นต้น ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้นำผลิตภัณฑ์โอท็อปไปจัดงานเมืองสุขสยามที่ไอคอนสยาม โดยนำผลิตภัณฑ์ไปขายเดือนละ 250 ผลิตภัณฑ์ หมุนเวียนทุกเดือน เพื่อให้คนโอท็อป 9,000 กลุ่มได้มีโอกาสในการค้าขาย คาดว่าจะมีรายได้รวมจากงานนี้กว่า 100 ล้านบาท รวมถึงพัฒนานักธุรกิจรุ่นใหม่ โดยสร้างโรงเรียนโอท็อปนำร่องแล้ว 5 จังหวัด โดยมีหลักสูตรพัฒนาเซ็กเตอร์ต่าง ๆ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องประดับ เสื้อผ้า ของใช้ในชีวิตประจำวัน”

นายนิสิตกล่าวว่า กรมยังเดินหน้าผลักดันงานจำหน่ายผลิตภัณฑ์โอท็อปประจำปีของกรม ซึ่งเป็นงานระดับประเทศ ให้เข้าไปอยู่ในปฏิทินของ ททท. อีกทั้งยกระดับงาน OTOP Domestic Affair สู่ OTOP International Expo และมุ่งบริษัททัวร์ต่างชาติเข้ามาชมและซื้อสินค้า รวมถึงมุ่งการทำโอท็อปบิ๊กดาต้า เก็บรวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์โอท็อปที่ปัจจุบันมีถึง 160,000 ผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สตาร์ตอัพหรือเอสเอ็มอีสามารถเข้าไปดูและทำการค้ากับชุมชนได้โดยตรง โดยจะเริ่มจากผลิตภัณฑ์โอท็อปออนบอร์ด ควอดแรนต์ A-B ก่อน ปัจจุบันมีประมาณ 10,000 กว่าผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้พยายามผลักดันโอท็อปฟู้ดสตาร์ ยกระดับอาหารรสไทยแท้ให้ได้รับการันตีคล้ายมิชลินสตาร์

นายนิสิตกล่าวว่า แนวทางที่ 3 ตลาดประชารัฐ โดยมีโครงการอบรมพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการค้าขาย และนำไปสู่ที่กรมรับผิดชอบ ได้แก่ ตลาดประชารัฐคนไทยยิ้มได้ ตลาดประชารัฐของดีจังหวัด และตลาดประชารัฐโมเดิร์นเทรด รวมถึงผู้ประกอบการในชุมชนต้องเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!