คมนาคมจุดพลุ “เชียงใหม่” วางข่ายรถไฟ-ฟีดเดอร์เสริม TOD พัฒนาเมือง

เชียงใหม่

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ” ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้หัวข้อ “เชียงใหม่ 2019 Smart Economy Smart City” โดยได้รับเกียรติจาก “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ปลัดกระทรวงคมนาคม มาเป็นวิทยากรในการฉายภาพทิศทาง และนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาหัวเมืองหลักของพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงคมนาคมกำลังเตรียมผลักดันโครงการระบบขนส่งมวลชน เพื่อตอบรับการเติบโตของจังหวัดเชียงใหม่

โดย “ชัยวัฒน์” กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ทำแผนแม่บทขนส่งสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่ขึ้นมา และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว แบ่งเป็น 3 สาย 1.สายสีแดง 12 สถานี ระยะทาง 12.54 กม. 2.สายสีน้ำเงิน 13 สถานี ระยะทาง 10.47 กม. 3.สายสีเขียว 10 สถานี ระยะทาง 11.92 กม. รวม 35 สถานี รวมระยะทาง 34.93 กม.

นอกจากนี้ยังมีระบบฟีดเดอร์ แบ่งเป็นฟีดเดอร์ระบบรอง 7 เส้นทาง ระยะทาง 89 กม. และฟีดเดอร์ระบบเสริมอีก 7 เส้นทาง ระยะทาง 85 กม. โดยมีวงเงินในการจัดทำระบบหลักทั้ง 3 เส้น อยู่ที่ 80,320 ล้านบาท และระบบฟีดเดอร์ 6,336 ล้านบาท

“ปัจจุบันกำลังออกแบบเส้นทางสายสีแดง คาดว่าน่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2563 และปี 2567 จะก่อสร้างเสร็จสิ้นพร้อมให้บริการ ซึ่งชาวเชียงใหม่มีข้อเรียกร้องให้ทำเป็นรถไฟใต้ดิน เนื่องจากหากเป็นรถไฟลอยฟ้าอาจจะบดบังทิวทัศน์ของเมืองเก่า ซึ่งการลงไปใต้ดินจะทำให้ราคาแพงขึ้น 3 เท่า”

ขยายโครงข่ายบัตรแมงมุม

ชัยวัฒน์ยังกล่าวอีกว่า อนาคตบัตรแมงมุงจาก กทม.จะสามารถใช้ที่จังหวัดเชียงใหม่ได้อีกด้วย เพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย และให้ประชาชนเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต จากเดิมคิดว่าจะไปสายไหนต่อสายไหน เป็นการเดินทางออกนอกบ้านด้วยขนส่งสาธารณะ หรือรถส่วนตัว โดยหากรถไฟฟ้าเสร็จจำเป็นต้องมีระบบก้างปลามาสนับสนุน ผ่านการเป็นฟีดเดอร์ ซึ่งจะดึงขนส่งสาธารณะแบบเดิม เช่น รถแดง เข้ามาร่วมในการพัฒนาส่วนนี้ด้วย

โดยขณะนี้การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในขั้นตอนการทำแผนแม่บทระยะที่ 2 คาดว่าอีก 5 ปีจึงจะเสร็จสิ้น ซึ่งจะต้องคิดว่าจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะรอบรัศมี 2 กม.ของจังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ หากประเมินสภาพการสัญจรเทียบเคียงกับในกรุงเทพฯ แบ่งเป็น กลุ่ม A คือ MRT BTS และ ARL กลุ่ม B คือ BRT และคนกลุ่ม C คือ รถประจำทาง เช่น แท็กซี่ สองแถวแล้วนั้น พบว่าในจังหวัดเชียงใหม่จะเน้นหลักในกลุ่ม C เพราะปริมาณผู้โดยสารไม่มากนัก โดยแผนที่จะจัดทำจะอยู่ในระดับกลุ่ม B แต่ไปไม่ถึงกลุ่ม A

หนุนปรับผังเมืองสู่ TOD

ชัยวัฒน์ยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ด้านการพัฒนาพื้นที่ เมื่อมีรถไฟฟ้าแล้วจำเป็นต้องมีสถานีที่นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ในแต่ละจุด เหมือนต้นแบบของพื้นที่พัฒนารอบสถานี หรือ TOD ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการร่วมมือกันระหว่างเอกชน กับรัฐบาลกลาง รวมถึงประชาชนที่ยอมเสียพื้นที่และย้ายไปอยู่พื้นที่อื่น หลังจากการปรับผังเมืองในการใช้พื้นที่ ภายใต้ข้อแลกเปลี่ยนบางประการ

ทั้งนี้ ในประเทศไทยคงเป็นไปได้ยาก แต่ตนอยากเห็นความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ โดยทางกระทรวงคมนาคมมีแนวทางจัดทำ TOD เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองในจังหวัดเชียงใหม่แบ่งพื้นที่เป็น 9 จุดได้แก่

1.สถานีศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ (ศูนย์กลางการประชุมและแสดงสินค้า) 2.สถานีตลาดมีโชค (ธุรกิจ ศูนย์กลางเมืองใหม่) 3.สถานีขนส่งอาเขต (ธุรกิจ ศูนย์กลางเมืองใหม่) 4.สถานีไร่ฟอร์ด (การศึกษา) 5.สถานีขนส่งช้างเผือก (การอนุรักษ์ย่านเมืองเก่า)

6.สถานีไนท์บาซาร์ (ธุรกิจ และการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่า) 7.สถานีรถไฟ (ธุรกิจ ศูนย์กลางเมืองใหม่) 8.สถานีท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ธุรกิจ ศูนย์กลางเมืองใหม่) 9.สถานีศรีบัวเงินพัฒนา (ที่พักอาศัยชานเมือง) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของท้องถิ่นและภาคประชาชนถึงจะพัฒนาพื้นที่ได้

พัฒนาสู่คมนาคมระบบราง

นอกจากนี้ ชัยวัฒน์ยังกล่าวอีกว่า กรอบยุทธศาสตร์แผนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งชาติต้องเปลี่ยน เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็วขึ้น แต่คมนาคมไทย 20 ปีที่ผ่านมาติดกับดักจราจรติดขัด จึงมุ่งเน้นแต่การสร้างถนน โดยจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น กระทรวงคมนาคมนำมาย่อยเขียนเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (2560-2579) มีโครงการมาก ใช้เงินมหาศาล จึงมีการแบ่งออกมาเป็นแผน 8 ปี ทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย (2558-2565) มี 111 โครงการรถไฟใน กทม. ภูมิภาค รวมถึงท่าเรือที่ทยอยตามมา

“ต่อไปองค์กรด้านคมนาคมจะปรับวิธีคิด ไม่ทำถนนเยอะ แต่เราจะทำระบบราง ด้วยการเพิ่มรถไฟรางคู่ 3,150 กม. 5.5 แสนล้านบาท (2558-2565) เพิ่มเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 2,506 กม. 1.6 ล้านล้านบาท (2560-2579) เพื่อทำการเชื่อมโยงกับการพัฒนาเมืองหลัก เป็นการเปลี่ยนโฉมขนส่งของไทยเป็นโครงข่ายเชื่อมการพัฒนา” ชัยวัฒน์กล่าว

ถือได้ว่าเป็นเป้าหมายสำคัญของการเติบโตในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เปิดให้ “เอกชน” และ “ประชาชน” ได้มีส่วนร่วมกับการพัฒนา

 

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!