4 เทศบาลหัวเมืองหลักระดม 6.3 พันล้าน MOU เมืองคาร์บอนต่ำ

4 เทศบาลหัวเมืองหลัก MOU ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำภายในระยะเวลา 4 ปี เตรียมระดมงบกว่า 6.3 พันล้านบาท เน้นลงทุนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ การจัดการขยะ และพลังงาน ที่เป็นปัญหาท้าทายของเมือง ด้านกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก-UNDP หนุนกว่า 108 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำผ่านระบบการจัดการเมืองอย่างยั่งยืน ตั้งเป้า 4 เมืองนำร่องจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 1.7 แสนตัน ภายใน 4 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 ได้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือของ 4 เทศบาลนคร ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครเกาะสมุย และเทศบาลนครนครราชสีมา ในการดำเนินโครงการ “พัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำผ่านระบบการจัดการเมืองอย่างยั่งยืน” (Achieving Low Carbon Growth in Cities through Sustainable Urban System Management in Thailand) ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และ UNDP ประจำประเทศไทย ณ โรงแรมแคนทารี ฮิลล์ เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำผ่านระบบการจัดการเมืองอย่างยั่งยืน เป็นเป้าหมายหนึ่งในการพัฒนาประเทศไทยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ที่เน้นการพัฒนาประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยโครงการนี้มีระยะเวลาการดำเนินงาน 4 ปี เริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 เป็นต้นไป จนสิ้นสุดไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ซึ่งมี 4 เทศบาลในหัวเมืองหลักของประเทศไทย ที่เป็น 4 เมืองนำร่องเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครเกาะสมุย และเทศบาลนครนครราชสีมา

               

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับงบประมาณหลักที่สนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility : GEF) จำนวนราว 108 ล้านบาท โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการ พร้อมสนับสนุนทรัพยากรในการดำเนินงาน (In kind) จำนวน 14 ล้านบาท ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ที่จะเป็นหน่วยงานรับประกันโครงการและสนับสนุนทรัพยากรและงบประมาณ (In kind และ In cash) จำนวน 10 ล้านบาท ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนโครงการของทั้ง 4 เมืองนำร่อง ให้บรรลุเป้าหมายภายในระยะเวลา 4 ปี

ขณะเดียวกัน ทั้ง 4 เทศบาลนำร่อง ยังสนับสนุนการดำเนินโครงการนี้ในรูปแบบงบบุคลากร และงบประมาณการลงทุนโครงการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 6,300 ล้านบาท โดยจุดเน้นการลงทุนของโครงการต่างๆ เน้นด้านการขนส่งที่ยั่งยืน การจัดการขยะของเสีย และพลังงาน ซึ่งเมื่อมีการจัดทำแผนการพัฒนาฯแล้วเสร็จ เทศบาลทั้ง 4 แห่งจะได้กรอบการพัฒนาโครงการลงทุนที่ชัดเจนว่าจะมีการลงทุนในด้านใดเป็นสำคัญ

ในส่วนของการดำเนินงานของ อบก. จะมุ่งเน้นการทำงานในเชิงพื้นที่ของทั้ง 4 เมืองนำร่องดังกล่าว เน้นการจัดทำแผนข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเมือง บูรณาการงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกลงในแผนพัฒนาเมืองและจัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของเมือง สนับสนุนด้านวิชาการด้านการจัดการของเสีย การขนส่งยั่งยืน และพลังงาน รวมถึงสนับสนุนด้านการเงินต่อโครงการพัฒนาคาร์บอนต่ำของเมือง เป็นต้น

นางประเสริฐสุข กล่าวว่า เป้าหมายหลักของโครงการที่ดำเนินเงินภายในระยะ 4 ปี จะมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้ง 4 เมืองให้ได้ไม่น้อยกว่า 177,708 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สามารถลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคการขนส่งไม่น้อยกว่า 788,093 กิกะจูล หรือเทียบเท่าน้ำมันเบนซิน 25 ล้านลิตร นอกจากนี้ยังตั้งเป้าจัดการขยะ ของเสียให้ได้มากขึ้น 389,352

“แนวโน้มของประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น โดยตัวเลขเมื่อปี 2016 อยู่ที่กว่า 300 ล้านตัน หรือ 0.9% สูงเป็นอันดับที่ 21 ของโลก อันดับ 1 คือจีน รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา และไทยยังเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย”

ปัญหาด้านการพัฒนาเมืองหลักๆของ 4 เทศบาลที่เป็นปัญหาหลักและท้าทายก็คือ ปัญหาการจราจร ที่ยังไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ รวมถึงปัญหาการจัดการขยะ และปัญหาด้านพลังงานจากการหารือเบื้องต้น ได้ข้อมูลว่า เทศบาลนครเชียงใหม่ให้ความสนใจพัฒนาเรื่องระบบขนส่งสาธารณะ เช่นรถไฟฟ้า ส่วนเทศบาลนครนครราชสีมา จะทำเรื่องการจัดการขยะ น้ำเสียและการจัดระบบโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่เทศบาลนครเกาะสมุยซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวสนใจทำเรื่องจัดการขยะของเสีย และเทศบาลนครขอนแก่นซึ่งมีระบบขนส่งสาธารณะแล้วก็อยากจะได้พลังงานทดแทน โดยสนใจเรื่องโซล่าลูปในส่วนของที่เป็นตลาดสดทั้งหมดในเขตพื้นที่ เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า เทศบาลนครเชียงใหม่ให้ความสำคัญ 3 ส่วนคือ ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดการใช้รถส่วนตัว ลดการจราจรและลดก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากไอเสียเครื่องยนต์ ซึ่งภายในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่พบว่าแหล่งคาร์บอนส่วนใหญ่มาจากยานพาหนะ เพราะมีรถที่จดทะเบียนกว่า 2 ล้านคันและประมาณ 30% จะวิ่งอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ นอกจากนี้ ก็ให้ความสำคัญเรื่องการจัดการขยะ โดยจะลดปริมาณขยะจากวันละ 330 ตันลง โดยการหาวิธีการใหม่แต่ให้ได้ผลที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนสุดท้ายคือ พื้นที่สีเขียว ที่ต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับคาร์บอน ซึ่งคาดว่าทั้ง 3 ส่วนที่เทศบาลนครเชียงใหม่จะดำเนินการจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้